คัมภีร์วิถีกุฏฐโรค



โดย  ยส  พฤกษเวช               

พระคัมภีร์วิถีกุฏฐโรค     กล่าวถึง  โรคเรื้อน  มีแหล่งที่เกิดอยู่  2  แห่ง  คือ

                    1.  เกิดในกระดูก  เรียกว่า  กุฏฐัง  เป็นอติสัยโรค  คือ  โรคที่รักษายาก  เป็นอาการตัด  รักษาไม่หาย
                    2.  เกิดในชิ้นเนื้อ  เรียกว่า  โรคเรื้อน  รักษายาก  แต่มีโอกาสหาย  พอรักษาได้อยู่

สาเหตุและอาการของกุฏฐโรค

               1.  เกิดแต่กองปถวีธาตุ : เมื่อบังเกิดกระทำให้เมื่อยในข้อกระดูกและเส้นเอ็นน้อยใหญ่ ผิวเนื้อสากชา    แล้วขึ้นใบหูก่อน ดุจดังมดตะนอยต่อย แล้วลามไป บวมที่หน้า   แล้วบวมทั่วทั้งตัวดุจหนังแรด  ถ้ารักษาไม่หาย  นานเข้า ทำให้  นิ้วมือ/นิ้วเท้าบวม  แตกเป็นน้ำเหลืองเน่า กินกุดเข้าไป อาการดังกล่าวนี้  รักษาได้  1  ส่วน  ไม่ได้  3  ส่วน

               2.  เกิดแต่กองอาโปธาตุ : เมื่อบังเกิดนั้น  โลหิตและน้ำเหลือง ซึ่งกำเริบ  หย่อน  พิการระคนกัน กระทำโทษประการต่างๆ  บางทีเสียวเข้าไปในชิ้นเนื้อและผิวหนัง บางที ให้เขม่นไปในเส้นเอ็นและผิวหนัง   (ถ้าจะตั้งขึ้นที่สุดจะเขม่นริกๆ ไปในที่นั้นก่อน)  แล้วตั้งขึ้นเท่าเมล็ดถั่วเมล็ดงาดุจเกลื้อน แล้วค่อย เจริญใหญ่เท่าใบมะขาม    ใบส้มป่อย    ใบพุทรา  ทำให้ผิวเนื้อชา หยิกไม่เจ็บ  เป็นเหน็บชา  ผิวเนื้อนวลดุจน้ำเต้า  สมมุติ  เรียกว่า เรื้อนน้ำเต้า    เป็นนานเข้า  ให้เมื่อย นิ้วมือ/เท้าบวม และหูทั้งสอง หนาขึ้น  ผิวหน้าเหมือนมะกรูด   ผิวขาวแต่ไม่แดง  เป็นอสาทิยโรค รักษายากนัก

               3.  เกิดแต่กองเตโชธาตุ : เมื่อบังเกิดกระทำให้เมื่อยทั่วสรรพางค์กาย  สะบัดร้อน/หนาวดุจไข้แล้วผุดแดงขึ้นมาเป็นเม็ดสัณฐานดุจประดงเพลิง  เป็นๆ หายๆ ถึง 2-3 ครั้ง  แล้วขึ้นจับที่หูก่อน  ให้หูหนา และผุดแดงขึ้นเป็นผื่นดัง มดตะนอยกัด    แล้วลามขึ้นแก้ม   หน้าผาก ลามทั่วตัวแดงดุจดังเพลิง  เป็นนานเข้าทำให้ตัวพองดุจเพลิงไหม้  แล้วเปื่อยบวม  กระดูกคุด  รักษายาก

               4.  เกิดแต่กองวาโยธาตุ : เมื่อบังเกิดนั้น วาโยธาตุ   กำเริบ  หย่อน  พิการ  พัดซ่านไปตามผิวเนื้อและผิวหนัง   ทำให้เนื้อนั้นแข็งเป็นข้อ   ขอดเป็นเม็ดเท่าผลพุทรา  /ผลมะกรูด /ผลมะนาว บ้าง ทำให้หนังเนื้อเป็นเหน็บชา  หยิกหรือ มีดเชือดไม่เจ็บ    ต่อมาแตกออกเป็นขุมๆ เปื่อยเน่าเหม็นดุจซากศพ  กินจนกระดูกผุด้วน   กุฏฐโรคนี้สมมุติเรียกว่า  เรื้อนมะกรูด”  เป็นอสาทิยโรคตาย  10  ส่วน  รักษาได้  1  ส่วน

               5.  เกิดแต่ชาติสัมพันธุ์ตระกูล : เป็นกรรมพันธุ์    อาจเป็นชนิดใดก็ได้  สุดแล้วแต่ พ่อ  แม่ ปู่  ย่า  ตา  ยาย ของบุคคลนั้น

               6.  เกิดด้วยสามัคคีรส : อาจเป็นชนิดใดก็ได้  กินอยู่หลับนอนด้วยกัน  (คู่สามัคคีรส)

               7.  บังเกิดเป็นอุปปาติกะ : เกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้  ทั้งที่ธาตุทั้งปวงมิได้ วิปริตแปรปรวน

ลักษณะโรคเรื้อน

               เรื้อนกวาง : เกิดตามข้อมือข้อเท้า  กำด้นต้นคอ  เป็นน้ำเหลืองลามออกไปเมื่อทายาก็แห้ง  บางทีก็หายขาด  บางทีไม่หายไม่ตาย  แต่ลำบาก

               เรื้อนมูลนก : ผุดเป็นแว่นเป็นวงตามผิวหนัง  เล็กก็มี  ใหญ่ก็มี  สีขาวนุงๆ  ขอบนูน   มีสัญฐานดังกลากพรรนัย ทำให้คัน  นานเข้าลามทั้งตัว   พยาธินี้หายบ้าง  ไม่หายบ้าง

               เรื้อนวิมาลา : เกิดที่หู  กำด้นต้นคอ  ทำให้เปื่อยพุพอง  คัน  มีสัณฐานดุจมะเร็งไร   ยิ่งเกายิ่งคัน   วางยาแล้วแสบร้อนตามที่เกา รักษาหาย  มากกว่าไม่หาย

               เรื้อนหูด : ผุดเป็นตุ่มๆ ทั่วตัวเท่าเมล็ดพริกไทย  เท่าเมล็ด   ถั่วดำ  เท่าผลตะขบไทย  เท่าผลมะนาว  /ผลมะกรูด  อาการเมื่อยมึนไปทั้งตัว แต่ก็ไม่เป็นอะไรเหมือนคนปกติ  ท่านว่าเป็น  พยาธิกามโรค  รักษาไม่หาย   แต่ไม่ตายทันที  เมื่อถึงกาลอายุแล้วกระทำให้พยาธิจะแตกออกทุกยอด เปื่อยเน่าเหม็นดังซากศพ  จึงจะถึงกาลอวสานของชีวิต

               เรื้อนเกล็ดปลา : มักขึ้นที่หน้าก่อน  แล้วลามมาต้นคอลงมาถึงทรวงอก แล้วลามเป็นเกล็ดทั่วตัว  สัณฐานผิวดำ ลักษณะดังนี้  มิเป็นไร

               เรื้อนบอน : แรกผุดขึ้นเป็นรูปรุไป  มองไม่ค่อยเห็น  แม้เห็นก็จะเห็นแต่ขาวๆ แดงๆ อยู่ในเนื้อรำไร   เห็นไม่ชัด

               เรื้อนหิด : ลักษณะมักขึ้นทั่วทั้งตัว  แล้วลามไปเหมือนคนเป็นกลาก

               เรื้อนดอกหมาก : ผุดขึ้นเป็นขาวๆ คล้ายดอกหมาก  ถ้าเหงื่อออกจะทำให้คันเกาจนน้ำเหลืองซึมจึงหายคัน

               เรื้อนมะไฟ : ขึ้นเป็นเกล็ดแดง  ขอบขาว ใหญ่เท่าผลมะไฟ  เกิดกับผู้ใดมักทำให้ร้อนดุจดังต้องเพลิงและให้พองขึ้นมา

ยาแก้โรคเรื้อน

               ยาแก้เรื้อนกวาง : หนังคอกวางเผาไฟให้โชน  ละลายน้ำมันดิบทาที่แผล  อย่าให้ถูกน้ำ  ๓  วัน  ทาให้ได้  ๓  หน

               ยาแก้เรื้อนกวาง : หัวสุนัขที่คางยังค้างติดอยู่นั้น  เอามาเผาไฟให้ไหม้  ทำเป็นจุล  ละลายน้ำมันงาทาแผล

               ยาแก้เรื้อนกวาง : เห็ดร่างแห  เห็ดขี้ควาย  เสมอภาค  บดละลายน้ำมันงาทา

     
              ยาแก้เรื้อนกวาง : คางคกตายซากเผา  ตำผงละลายน้ำมันยางทา

               ยาแก้เรื้อนขี้นก : หัวว่านอิน  ลูกกระเบา  ลูกกระเบียน  ลูกลำโพงแดง  ลูกบวบขม  ขอบชะนางทั้งสอง  ใบรักขาว ใบกรวยป่า  กำมะถัน   เสมอภาค  ตำกับน้ำ  เอาน้ำสิ่งละ  ๑  ทะนาน  น้ำมันงา ๑  ทะนาน  หุงให้คงแต่น้ำมันทา  เอาขี้น้ำมันกินตามกำลัง

               ยาแก้เรื้อนขี้นก : ข้าวเย็นทั้งสอง  หัวยั้ง  รากมะดูก  ขันทองพยาบาท  หนอนตายอยาก  โรกขาว  โรกแดง  กุ่มน้ำ  กุ่มบก  กำมะถัน  ข่าต้น  เปล้าน้อย  เปล้าใหญ่  ดีบุกดำ  ชามเทพนม  เสมอภาค  ต้มกิน

               ยาแก้เรื้อนขี้นก : ใบลำโพง  ใบกรวย  ข่าหลวง  ใบพลูแก  เอื้องเพ็ดม้า  ใบกุ่มน้ำ  ใบกุ่มบก  ใบขอบชะนางทั้งสอง เสมอภาค  ทำเป็นจุล  ละลายสุราทา

 
           ยาแก้เรื้อนวิฬาร : ใบขัดมอน  ใบบัวหลวง  ใบตานหม่อน  ใบขนุนละมุด  ใบหวายขม  สิ่งละ  ๑  ส่วน   หญ้ายองไฟ  ลูกกระเบา  ลูกกระเบียน   ลูกลำโพงแดง  สิ่งละ ๒  ส่วน  ทำเป็นจุล  บดทำแท่งไว้  ละลายน้ำมันงาทา

               ยาแก้เรื้อนวิฬาร : ยาข้าวเย็นเหนือ  ยาข้าวเย็นใต้  ขันทองพยาบาท  หนอนตายอยากแดง  มะไฟเดือนห้า  คงคาเดือด  กำมะถันเหลือง  รากตะขบ  รากมะดูก  ถ่านไม้ซาก  สิ่งละ ๕  ตำลึง   เนื้อสมัน ๑  แผ่น  เอาเท่าฝ่ามือมะพร้าวไฟ ๑  ลูก  เอาทั้งน้ำทั้งเนื้อต้มกิน

               ยาแก้เรื้อนวิฬาร : ใบกรวยป่า  ใบยาสูบ  ใบเลี่ยน  ใบลำโพงแดง  ขมิ้นอ้อย  ขมิ้นชัน  ใบมะระ  ใบรักขาว มะพร้าวแกะ  เกลือสินเธาว์  เสมอภาค  ตำบิดเอาน้ำ  เป็นยาสดทา

               ยาแก้เรื้อนวิฬาร : เรื้อนขี้นก  เรื้อนแดง  เรื้อนหูด  และสรรพเรื้อน  ลูกลำโพงแดง  ใบกรวยป่า  ใบขอบชะนางทั้งสอง  ใบรักขาว  เสมอภาค  บดละลายน้ำมันดิบทา

             
              ยาแก้เรื้อนหูด : หนามรอบข้อ  หนามพุงดอ  หนามแดง  หนามพุทรา  หนามเล็บเหยี่ยว  หนามพรม  หนามคัดเค้า  หนามโยทกา  หนามส้มป่อย  หนามหวายขม  หนามหวายโป่ง  หนามมะกรูด  หนามส้มซ่า  หนามขี้แรด  หนามไผ่ป่าหนามไผ่สีสุก  กำมะถันเหลือง  เสมอภาค  ใส่หม้อ  แต่อย่าใส่น้ำ  เอาหม้อตั้งไฟขึ้นรมควัน  เมื่อจะรมนั้น เอาหัวน้ำมันยางทา  แล้วจึงเข้ากระโจม

               ยาแก้เรื้อนหูด : ใบพลับพลึง  ใบข่าหลวง  ใบขิง  เปลือกตะเคียน  ใบลำโพงกาสลัก  เสมอภาค  ต้มอาบทุกวันแล้วจึงเอายานั้นตั้งไฟขึ้นรมอีกทุกวัน  แก้เรื้อนหูดซึ่งแตกออกเป็นน้ำเหลืองเปื่อยเน่า  ห้ามน้ำเหลืองดีนัก

               ยาแก้สรรพโรคเรื้อน : เอาปรอทสุทธิ  บัลลังก์ศิลา  กำมะถันแดง  กำมะถันเหลือง  ฝางเสน  เสมอภาค บดให้ละเอียดไว้ส่วนหนึ่งก่อน  แล้วเอาใบมะขาม  ใบส้มป่อย  สิ่งละ ๑  ชั่ง  ใส่น้ำ  ๕  ทะนาน  เคี่ยวเอาแต่ ๑  ทะนาน   มาเคล้ากับยาที่บดไว้นั้น ตากแดดให้แห้ง  กว่าสิ้นน้ำยาให้ได้  ๗  วัน   เมื่อจะใส่ยานี้  ให้สับที่ผู้เป็นโรคเรื้อน  ให้โลหิตตกแล้วจึงเอายานี้ทาแผลที่สับ

               ยาแก้เรื้อนเกล็ดปลา : ลูกมะเดื่อป่า  เบญจข่าป่า  เสมอภาค  ทำเป็นจุล  เอาพริกไทยรำหัดแต่น้อย  บดให้ละเอียด  ละลายน้ำรวงผึ้งใส่หม้อผนึก  ฝังข้าวเปลือกไว้  ๑  เดือน  อย่าให้มดตอมได้  แล้วให้ทาวันละหนึ่งครั้ง  

               ยาแก้เรื้อนเกล็ดปลา เรื้อนมะกรูด : รากปีบ  รากขี้หนอน  รากพุงแก  รากหญ้านาง  รากตาเสือ  เสมอภาค  ทำเป็นจุล  ดองด้วยสุรา  ฝังข้าวเปลือกไว้  ๗  วัน  จึงกิน

               ยาแก้โรคเรื้อน : ใบถั่วแปบ  ใบถั่วแระ  ใบเจตมูลเพลิง  ใบย่างทราย  เสมอภาค  ทำเป็นจุล ละลายน้ำมันงาทาตัว

               ยาแก้โรคเรื้อน : รากช้าหมอง  กำแพงเจ็ดชั้น  โรกทั้งสอง  เชือกเขาหนัง  ต้นไข่แลน  หญ้าหนวดแมว  หัวยั้ง ยาข้าวเย็นทั้งสอง  สิ่งละ  ๒  ตำลึง  ๒  บาท  กะลามะพร้าวไฟ  ๓  ซีก  ตาไม้ไผ่ป่า  ๗๓  ตา  ต้มให้กิน
   
               ยาแก้โรคเรื้อน : บุกรอ  กลอย  รากกระถินแดง  ทองพันช่าง  หางไหลแดง  สิ่งละ ๒  ตำลึง  ๒  บาท  ยาข้าว เย็นทั้งสอง  สิ่งละ  ๓  ตำลึง  ต้มให้กินตามกำลัง
 
             
              ยาแก้โรคเรื้อนของหลวงจินดาโอสถ : หนอนตายอยาก  หางไหลทั้งสอง  รากโรกทั้งสอง  รากคุยทั้งสองตูมกาแดง  ตูมกาขาว  มะดูกต้น  มะดูกเครือ  ขันทองพยาบาท  รากมะขามป้อม  เจตมูลเพลิง  สิ่งละ ๑  ส่วน  กำมะถันทั้งสอง  พริกไทย  สิ่งละ  ๖  ส่วน  ยาข้าวเย็นทั้งสอง  สิ่งละ  ๑  ส่วน  เอาสุราครึ่ง  น้ำครึ่ง  เป็นกระสาย  ต้มให้กิน  แก้กุฏฐโรค

               ยาแก้สรรพกุฏฐโรคของหลวงจินดาโอสถ : เม็ดกระเบา  เม็ดกระเบียน  เม็ดลำโพงกาสลัก  ลูกดีหมีต้น  ใบกรวยป่า  เลี่ยนทั้งใบทั้งเปลือก  ขอบชะนางทั้งสองทั้งต้นทั้งราก  ใบสะแกแสง  ใบมะเกลือ  ใบตานหม่อนใบยาสูบ  ขมิ้นอ้อย  สิ่งละ  ๑  ตำลึง  มะพร้าวไฟ ๑  ลูก  ทำเป็นจุล  แล้วคุลการเข้าด้วยกัน   หุงให้คงแต่น้ำมันทา
               ยาแก้สรรพเรื้อนของหลวงจินดาโอสถ : ใบยาสูบ  เมล็ดชุมเห็ดเทศ   เมล็ดในชุมแสง  เมล็ดในละมุดสีดา ลูกตานขโมย  เมล็ดในลำโพงแดง  สิ่งละ  ๘  บาท  รากระย่อม  ๑  ตำลึง  ๒  บาท  ทำเป็นจุลไว้ก่อน  แล้วจึงเอากาตาย  ๑  ตัว  มาผ่าท้อง  เอายาทั้งนั้นใส่ในตัวกาสุมไฟแกลบให้โชน  บดทำแท่งละลายน้ำสุราทา

               ยาแก้เรื้อนพรรนัยกุฏฐัง : กำมะถันเหลือง  ๑  บาท  สารปากนก ๑  บาท  ปรอท ๒  สลึง ๑  เฟื้อง  เอาใบดาวเรืองตำคั้น  เอาน้ำมากวนตากแดดตากน้ำค้างไว้ ๓  คืน   แล้วเอาใบคนทีสอมาตำคั้น  เอาน้ำกวนยาตากแดดตากน้ำค้างไว้  ๓  วัน  แล้วปั้นเมล็ดฝ้าย  กินวันละ  ๑  เม็ด  ทวีทุกวันจนถึง  ๗  วัน  แล้วกลับมากิน ๑  เม็ด  อีกต่อไป

               ยาแก้ขี้เรื้อนกุฏฐังและพยาธิหูหนา เป็นผิวมะกรูดทั้งตัวก็ดี  มือกุดตีนกุด : หญ้าฝรั่น  เปล้าน้อย  เปล้าใหญ่  จันทน์เทศ  สิ่งละ  ๑  บาท  ลูกจันทน์  ดอกจันทน์  พริกไทย  ขิงแห้ง  สิ่งละ  ๒  บาท  อัมพันทอง  ๑  สลึง  ลูกกระเบา  เอาแต่เนื้อในเมล็ด ๑ ทะนาน  ตำให้แหลก  คั่วให้เหลืองแล้วประสมกันเข้าให้หมดกับยาทั้งนั้น  ตำให้เข้ากันจนปั้นก้อนได้  กินเท่าเม็ดพุทรา  เช้า เย็น

               น้ำมันปิดแผลขี้เรื้อน  แผลพยาธิ  แผลกุฏฐัง : มะพร้าว  ๑  ลูก  ขูดเอาแต่เนื้อ ไพล  ขมิ้นอ้อย  ใบมะขาม           สี่สิ่งนี้ประสมกันตำให้ละเอียด  บิดเอาน้ำเคี่ยวให้น้ำมัน  แล้วเอาสีเสียดเทศ  ชันผง  สิ่งละ ๑  สลึง  จุนสี  ๑  เฟื้อง  ชันตะเคียน ๑  สลึง  บดให้ละเอียดใส่ลงในน้ำมัน  เอาชุบปิดแผล

               ยาแก้เกลื้อนดอกหมาก : ลำโพงแดง   ใบชุมเห็ดเทศ  สิ่งละ ๑  ส่วน  ขมิ้นอ้อย  ๒  ส่วน  สารหยวก  ๓  ส่วน  ทำเป็นจุล  เอาสุราเป็นกระสาย  บดทำแท่งไว้  ละลายน้ำมะนาว  แก้เกลื้อนนวลแดง  เกลื้อนดอกหมาก  

               ยาแก้คุดทะราด : หรดานกลีบทอง  จุนสี เสมอภาค  บดด้วยน้ำมะนาวทำแท่งไว้  เมื่อจะจุก็ดี  เอามะนาวบีบ  ให้หยดลงในที่มีดพร้าก็ได้  แล้วจึงเอายาฝนลง  จุดแก้แผลคุดทะราดทั้งสองจำพวก  เป็นยาห้ามน้ำเหลืองและชำระโทษอันร้ายและถอนยอดคุดทะราด

               ยาแก้คุดทะราด  : ยาข้าวเย็นทั้งสอง  รากทองหลางหนาม  รากตะขบ  รากพริกเทศ  รากมะดูก  หญ้าหนวดแมวเปลือกมะรุม  กำมะถันเหลือง สิ่งละ  ๕  ตำลึง  ต้มกินตามกำลัง

               ยาแก้คุดทะราด : ยาข้าวเย็นทั้งสอง   ขันทองพยาบาท  ซังข้าวโพด  กำมะถันเหลือง  สิ่งละ  ๒  ตำลึง  ๒  บาท ต้มกิน  แก้คุดทะราด  แก้กลากเกลื้อน  มะเร็ง  หิดด้าน  หิดเปื่อย


ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น