โดย ยส พฤกษเวช
พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์
ธาตุทั้ง ๔ พิการ
๑. ปถวีธาตุพิการ
ทำให้ร่างกายตึงชา แข็งกระด้าง เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง แข็งดังขอนไม้
๒. อาโปธาตุพิการ
ทำให้พรุนเปื่อย เป็นหิด เป็นฝี บางทีเป็นเม็ดคันทั่วร่างกาย มีน้ำเหลืองไหล กลิ่นเหม็นเน่า ดังงูปูติมุขขบตอด
๓. เตโชธาตุพิการ
ให้รุ่มร้อนเป็นกำลัง ผิวหนังหม่นไหม้ด้านดำไป ดูน่าเกลียด มีพิษดังงูอัคคีมุขขบตอด
๔. วาโยธาตุพิการ
มีโทษมากกว่าธาตุทั้ง ๓ มีอาการพิษให้เปื่อยพัง ให้ขาดเป็นชิ้น ๆ ดังมีดเชือด ดังงูสัตถมุขขบตอด ให้เปื่อยเน่าไปทั่วร่างกาย
ฤดู ๓ ให้ธาตุพิการ
คิมหันตฤดู แรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เตโชธาตุพิการ โลหิตเป็นต้นไข้ มักให้โทษต่าง ๆ นา ๆ
วสันตฤดู แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ วาโยธาตุพิการ กำเริบกว่าธาตุทุกกอง
เหมันตฤดู แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ อาโปธาตุพิการ
ฤดู ๔ ให้ธาตุพิการ
คิมหันตฤดู เดือน ๕, ๖, ๗
เป็นเพื่อเตโชธาตุกำเริบ พิกัดสันตัปปัคคีให้โลหิตพิการ อยากอาหารบ่อย กินมิทันอิ่ม ให้อาเจียน ขัดอก แสบไส้ จุกเสียด เวียนหน้าตา เป็นลมในอุทร ให้ปวดมวนท้อง มือเท้าสั่น เมื่อยตัว หายใจดุจหืด ระส่ำระสาย และเกิดลมร้าย ๖ จำพวก
วสันตฤดู เดือน ๘, ๙, ๑๐
เป็นเพื่อวาโยธาตุกำเริบ เหตุเกิดเพราะกินอาหาร ให้เกิดโรคผอมเหลือง หายใจสั้น ท้องลั่นโครก แดกขึ้นแดกลง หาวเรอ วิงเวียนหน้าตา กินอาหารไม่รู้รส หูหนัก ปากเหม็น ปากหวาน เกิดกาฬเลือดออกมาทางปาก ทางหู
วสันตเหมันตฤดู เดือน ๑๑, ๑๒, ๑
สองฤดูระคนกัน อาโปธาตุกำเริบ เหตุด้วยกินอาหารผิดสำแดง มักขึ้งโกรธดุจเป็นบ้า ขบตามข้อกระดูก มือเท้าบวม ให้ลงเป็นโลหิต ให้ไอ ผอมเหลือง ขัดอก ลงท้อง ปวดมวน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
เหมันตคิมหันตฤดู เดือน ๒, ๓, ๔
สองฤดูระคนกัน ปถวีธาตุกำเริบ นอนไม่หลับ กระหายน้ำ ให้รุ่มร้อน เสียดสองราวข้าง มักขึ้งโกรธ ให้เจ็บคอ ปากหวาน เจ็บอก ท้องลั่นปั่นป่วน
ฤดู ๖ ให้ธาตุพิการ
คิมหันตฤดู เดือน ๕, ๖ เป็นเพื่อกำเดาและดี เมื่อยมือและเท้า เสียดแทง นอนไม่หลับ มวนท้อง อาเจียน สะอึก
คิมหันตวสันตฤดู เดือน ๗, ๘ เป็นเพื่อเตโช วาโย กำเดา โลหิต ให้ปวดมวนในกาย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กินอาหารไม่รู้รส ให้ระส่ำระสาย คลั่งไคล้ลืมตัว
วสันตฤดู เดือน ๙, ๑๐ เป็นเพื่อวาโยกล้าและเสมหะ ให้หนักอก หายใจขัด คันตัว ถ้าวาโยและเสมหะระคนกัน มีรสกล้ามาก
สะระทะฤดู เดือน ๑๑, ๑๒ วสันตและเหมันตเจือ เป็นเพื่อวาโย เสมหะและมูตร ร้อนในทรวงอก ร้อนในไส้ ในกาย ให้เจ็บฟก เจ็บกระดูกสันหลังและเจ็บคอ
เหมันตฤดู เดือน ๑, ๒ อาโปและปถวีแทรก เป็นเพื่อเสมหะ กำเดา และโลหิต ให้เจ็บสันหลัง บั้นเอว เนื้อตึง ต้นคอแข็งดุจตรีโทษ
ศิศิระฤดู เดือน ๓, ๔ ปถวีธาตุเป็นมูลโรค เป็นเพื่อเลือดลม กำเดาเจือเสมหะ ให้เกิดโรคฟกบวม หูทั้งสองเป็นน้ำหนวก เม็ดเลือดเน่าไหลออกจากหู
ธาตุ ๔ วิปลาส (กำเริบและหย่อนกล้า)
กองปัถวีธาตุ เกิดโทษสิบสามประการ เกิดเหาและเล็นมาก ไข้ครุ่นเป็นประมาณ ท้องลั่น ท้องขึ้น เจ็บท้อง ให้ตกเลือด หนองเหม็นเน่า เสียดแทงในท้องน้อย ขัดตะโพกดังถูกชก เป็นดังโรคกระษัย ให้เจ็บในอก ให้เนื้อช้ำฟก เล็บตีนเล็บมือเขียว
กองเตโชธาตุ มักให้ร้อนปลายมือปลายเท้าดุจดังปลาดุกยอก รุ่มร้อนดังเพลิงโหม ร้อนในท้องในไส้ ดังน้ำที่เดือดพลุ่งพล่าน บวมหน้า บวมหลัง บวมท้อง เป็นเม็ดแสบร้อนดังหัวผดทั่วตัว หลบเข้าภายใน ทำให้เจ็บท้อง ตกมูกเลือด เน่าเป็นหนอง
กองวาโยธาตุ อาการวิกลกระทำโทษสิบสามประการ ให้เป็นตะคริว เมื่อยตีนมือ หูอื้อตึง หนักเอว ขัดตึงสันหลัง รากลมเปล่า เจ็บอก ให้ขัดหัวเข่า เป็นฟกบวมเป็นปุ่มเป่าจะโป่ง หายใจขัดอก เป็นหวัดไอ ให้หอบหืด ตาพราย วิงเวียนหน้า
กองอาโปธาตุ เกิดโทษสิบสองประการ ให้จุกอก ลงท้อง แล้วแปรเป็นกระษัยกล่อน ขัดหนักขัดเบา ตึงหัวเหน่ามิได้หย่อน ท้องน้อยมักเป็นก้อนเป็นลูกกลิ้งขึ้นลง ตกเลือดตกหนอง เป็นพรรดึก ร้อนหน้าหลังดังเพลิง เหลืองซีด ผอมแห้ง เกิดเสลด ตีนมือเย็น ชายขัดสีข้างขวา หญิงขัดสีข้างซ้าย ให้ยอกขัดไม่สบาย เกิดเลือดระสายช้ำ เป็นไข้จับวิบัติกลาย
ธาตุ ๔ เป็นตรีโทษ
ปถวีธาตุในตรีโทษ มีอาการ ๑๐ ประการ ให้ราก ทรวงอกแห้ง กายแข็งปานท่อนไม้ ไม่รู้รสอาหาร จืดเค็มก็มิแจ้ง มักเป็นไข้ร่ำไป เจ็บอกเป็นใหญ่หลวง อาหารกินไปพอหยุดกินก็แสบท้อง แสบในอกดังเพลิงสุม ร้อนรุ่มเศร้าหมอง ท้องขึ้นและท้องพอง ให้เขียวช้ำทั่วทั้งกาย ถ้าแก้ไม่หายใน ๕ วัน พลันม้วยมรณ์
อาโปธาตุในตรีโทษ มีอาการ ๑๓ ประการ ให้ร่างกายซูบเศร้าหมอง เหงื่อออกมากทั่วทั้งตัว ตึงตัวตึงหน้าตา กินอาหารน้อย ร้อนรนกระมลหมาง กระหายน้ำ ขัดอก ในท้องเป็นลมลั่น อยากของมัน มักโกรธ ให้ร้อนและเย็นในอก เป็นไข้ปากชุ่มและขมร้อนกลับเผ็ดหวาน จงเร่งรักษา ถ้ามิหายภายใน ๗ วัน จะตายในเวลากลางคืน
เตโชธาตุในตรีโทษ มีอาการ ๑๔ ประการ ให้ร้อนในท้อง ไส้พลุ่งพล่าน น้ำเดือดไม่เปรียบปราน ให้ตีนมือตาย ให้ไอดังขลุกๆ ในลำคอและทรวงอก เมื่อยขบทั่วกาย ให้ผอมแห้ง ปวดมวนท้อง ร้อนรุ่มทั้งกายภายในดังกองไฟ วิงเวียนหน้าตา หมอง แสบไส้ มักเป็นลม มือสั่น ตีนสั่น ให้ร้อนเสียวดังเพลิงรม ถ้าแก้มิฟังจะถึงตายใน ๗ วัน
วาโยธาตุในตรีโทษ ให้โทษ ๑๖ สถาน ให้ผอมเหลือง ร่างกายแห้งซูบหมอง จุกอก เป็นก้อนอยู่ในอกและในท้อง ให้สะอึกให้เรอเหียน หายใจสั้นให้หวานปาก มักอาเจียน ร้อนอก ปวดเศียร ให้เจ็บอก ให้คันตัว ผุดแดงดังสีเสียด ไอไม่ขาดดังหืด หนักหน้าตา ตามัว ถอยกำลัง ขัดหนักเบา ไม่พอใจกินของมีมันจืดเค็ม พึงอย่าได้ดูเบา ใน ๗ วัน สามยามตาย
ลักษณะอาการของโทษ ๒ (ทุวันโทษ)
๑. เสมหะกับลม ทำให้กายชุ่มไปด้วยเหงื่อ เจ็บทั่วทั้งกาย ง่วงนอน หนักเนื้อตัว เจ็บศีรษะ มักเป็น
หวัดและไอ
๒. เสมหะกับดี เป็นไข้ ปากขม ตัวสั่น พูดพร่ำเพ้อ ให้หนาว ๆ ร้อน ๆ และไอ
๓. ดีกับโลหิต ใจระทดรุ่มร้อน หมองจิต มักตกใจสะดุ้ง ดี ลม และกำเดาระคนกัน มักให้อยากน้ำ ยอกเสียวเป็นเวลา มักวิงเวียนหน้าตา กระวนกระวาย คัดจมูก
เจ็บศีรษะ ร้อนคอ สะท้านกาย ไม่สบายให้เจ็บไข้ ให้หนาว
ลักษณะอาการของโทษ ๓ (ตรีโทษ)
โทษ ๓ (ตรีโทษ) ปิตตะ เสมหะ วาตะ ให้เกิดมหาสันนิบาต คนไข้จะตายเพราะอาการ ดังนี้ คือ ให้ร้อนกระวนกระวาย ให้เจ็บทั่วกาย เชื่อมซึม ไม่สมปฤดี เย็นสะท้านทั้งกาย ผิวนวล เวียนหน้าตา กินอาหารน้อย หน้าตาแดงดังสีเลือด เจ็บคอ เจ็บหัว เจ็บหู และเจ็บทั่วกาย ไม่อยากข้าว นอนไม่หลับ ลิ้นกระด้าง หาวนอน หนาว ๆ ร้อน ๆ ตัวแดงและเหลืองดังทาขมิ้น หายใจขัด อาการดังนี้ถึงตรีโทษ รักษายากนัก
มูลเหตุของโรค ๖ ประการ
๑. กินอาหารผิดเวลาและอิ่มนัก
๒. เสพเมถุนมาก
๓. กลางวันนอนมาก
๔. กลางคืนนอนไม่หลับ
๕. โทสะมาก
๖. กลั้นอุจจาระปัสสาวะ
การใช้ยาแก้ตามประเทศสมุฏฐาน ๓
๑. กัณฑ์ประเทศ บุคคลที่เกิดที่น้ำจืด น้ำเค็ม เปือกตมมากมาย เกิดโรคเพราะเสมหะและลมกล้ากว่ากำเดา ดี และโลหิต พึงแต่งยาแก้เสมหะและวาตะ
๒. สาครประเทศ บุคคลที่เกิดที่มีกรวดทราย ศิลามาก น้ำน้อย เกิดโรคเพราะโลหิตและกำเดา กล้ากว่าเสมหะและลม พึงแต่งยาแก้โลหิตและกำเดา
๓. สาธารณประเทศ บุคคลที่เกิดในที่มากด้วยกรวดทราย เปือกตม ศิลา น้ำจืด น้ำเค็ม หนองน้ำ เกิดโรคระคนกันทั้งเลือด ลม กำเดา และดี
ลักษณะประเภทไข้เอกโทษ
๑. ไข้เพื่อเสมหะเอกโทษ อาการให้หนาวให้ร้อน ขนลุก จุกอก ให้หลับใหล กินไม่ได้ อ่อนแรง ฝ่ามือฝ่าเท้าซีดเผือด ให้ปากหวาน ให้ราก
๒. ไข้เพื่อกำเดาเอกโทษ อาการให้ปากขม ให้ร้อน ละเมอเพ้อคลั่ง ปวดศีรษะ อยากน้ำเป็นกำลัง ตัวเหลือง หน้าตาเหลือง ปัสสาวะแดง ให้ตึงแตกระแหง เป็นไข้ ฟันแห้ง นอนไม่หลับ
๓. ไข้เพื่อโลหิตเอกโทษ อาการให้ตัวร้อน ปวดศีรษะมาก หน้าตาแดง ปัสสาวะเหลือง หน้าแตกระแหง ฟันแห้ง
๔. ไข้เพื่อลมเอกโทษ อาการให้ขนลุกขนชัน หนาวสะท้าน ปวดศีรษะ เวียนหน้าตา มักโกรธง่าย เสียดแทงในอก กระหายน้ำ ในท้องเป็นก้อน ทุรนทุราย หายใจขัด ตาและเล็บเหลือง ไอดังเป็นหวัด ปากฝาด เจ็บคาง เมื่อยขากรรไกร ไอแห้ง
อาพาธทั้งห้า
หมายถึง สมุฏฐานสามประการ คือ ปิตตะ เสมหะ และวาตะสมุฏฐาน พิการประชุมพร้อมกันเป็นสันนิบาต และประกอบกับสาเหตุอื่น ประชุมพร้อมกัน ๘ ประการ เรียกว่า อาพาธทั้งห้า ดังนี้
๑. สันนิบาตประชุมกัน (๓ ประการ)
๒. อุตุปรินาม ฤดูสามปรวนแปรผันวิสมหาระนั้น (๑ ประการ)
๓. ด้วยอาหารและอิริยา (๒ ประการ)
๔. โอปักกะมิก คือ บิดพลิกพลาดแขนขา (๑ ประการ)
๕. กรรมวิปากา ไข้เพื่อกรรม กระทำผลอาพาธ (๑ ประการ)
ทั้งแปดประการนี้ ในคัมภีร์ศิริมานท์จากโอษฐ์พระทศพล กล่าวมาอาพาธทั้งห้านั้น
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น