คัมภีร์ปฐมจินดา ตอนที่ 1


โดย  ยส  พฤกษเวช


พระคัมภีร์ปฐมจินดา
พระอาจารย์ชีวกโกมารภัจจ์แพทย์   ...........  เป็นผู้แต่ง         

เนื้อเรื่องพระคัมภีร์ปฐมจินดามีหลายผูก    แต่ละผูกมีหลายปริเฉท
ผูก           หมายถึง       ลักษณะนามที่เรียกหนังสือใบลาน   ที่ร้อยหูไว้มัดหนึ่ง ๆ
ปริเฉท     หมายถึง       ข้อความที่รวบรวมที่เอามาจัดเป็นตอน ๆ  หรือข้อความที่จัดไว้เป็นหมวด

(ก)   ผูก   1

ปริเฉทที่  1                                                     
-   ว่าด้วยพรมปโรหิตเป็นลักษณะพรหมจุติ       
-   ว่าด้วยกำเนิดโลหิตระดู                            
-   ว่าด้วยกุมารออกจากครรภ์    
     
ปริเฉทที่  2                                             
-   ว่าด้วยครรภ์วาระกำเนิด      
-   ว่าด้วยครรภ์รักษา
-   ว่าด้วยครรภ์วิปลาส
-   ว่าด้วยครรภ์ปริมณฑล          
-   ว่าด้วยครรภ์ประสูติ

ปริเฉทที่   3 
-   ว่าด้วยลักษณะกุมารทั้งหลาย   
-   ว่าด้วยกุมารคลอดออกจากครรภ์ 
-   ว่าด้วยวิธีฝังรกแห่งกุมาร    
-   ว่าด้วยกุมารอยู่ในเรือนเพลิง 

ปริเฉทที่   4 
-   ว่าด้วยลักษณะสตรีดีและชั่ว  และรสน้ำนมดีและชั่ว  ซึ่งจะให้กุมารบริโภคมีโทษและคุณรวม  6  จำพวกกล่าวด้วยยาประสะน้ำนมและยารักษากุมาร


(ข)   ผูก 2

ปริเฉทที่  1                                                  
 -   ว่าด้วยลักษณะรูปสตรีภาพและรูปกุมาร        
 -   ว่าด้วยปักษีและปีศาจกระทำโทษกุมาร
 -   ว่าด้วยลักษณะน้ำนมมีโทษ  3  ประการ      
 -   ว่าด้วยลักษณะดวงซางแดง  ซางโจรซางเหลืองมาเกิด
 -   ว่าด้วยลักษณะซางนิลปัต  นิลหละมาเกิด              


   
(ค)   ผูก 3

ปริเฉทที่  1      
-   ว่าด้วยเด็กเกิดวันอาทิตย์เป็นลักษณะแห่งซางเพลิงเป็นซางเจ้าเรือน   ซางกลายเป็นซางจร  หละอุทัยกาล  ละอองเปลวไฟฟ้า  ลมประวาตะคุณ   และยารักษา                   

ปริเฉทที่  2      
-   ว่าด้วยเด็กเกิดวันจันทร์เป็นลักษณะแห่งซางน้ำ  เป็นซางเจ้าเรือน  ซางฝ้ายเป็นซางจร   หละแสงพระจันทร์  ละอองแก้ววิเชียรและยารักษา

ปริเฉทที่  3      
-   ว่าด้วยเด็กเกิดวันอังคารเป็นลักษณะแห่งซางแดง  เป็นซางเจ้าเรือน   ซางกระแหนะเป็นซางจร   หละอุทัยกาล  ละอองแก้วมรกตลมอุทราวาต  และยารักษา 

ปริเฉทที่  4      
-   ว่าด้วยเด็กเกิดวันพุธเป็นลักษณะแห่งซางสะกอ  เป็นซางเจ้าเรือน  ซางกระตังเป็นซางจร   หละเนียรกันถีหรือเนียรเพลิง  ละอองแสงเพลิง  ลมสุนทรวาตและยารักษา

ปริเฉทที่  5      
-   ว่าด้วยเด็กเกิดวันพฤหัสบดีเป็นลักษณะแห่งซางโค  เป็นซางเจ้าเรือน  ซางข้าวเปลือกเป็นซางจร   หละนิลกาฬ  ละอองมหาเมฆ  ลมหัศคินี  และยารักษา

ปริเฉทที่  6      
-   ว่าด้วยเด็กเกิดวันศุกร์เป็นลักษณะซางเจ้าเรือน  ซางกระดูก  ซางจร   หละแสงพระจันทร์  ละอองเนียรกันดี  ลมอริตและยารักษา

ปริเฉทที่  7      
-   ว่าด้วยเด็กเกิดวันเสาร์เป็นลักษณะซางโจรเจ้าเรือน  ซานางลิ้นเป็นซางจร  หละมหานิลกาฬ  ละอองเปลวไฟฟ้า  ทับทิม  ลมกุมภัณฑ์ยักษ์  ลมบาทยักษ์  และลมจำปราบและยารักษา
     
(ง)   ผูก 4

กล่าวด้วยเหตุ  6  ประการ
-   กล่าวด้วยอภัยสันตา       
-   กล่าวด้วยซางเจ้าเรือน  7  จำพวก
-   กล่าวด้วยซางโจร ซางเพลิง      
-   กล่าวด้วยต้อซางโจร
-   กล่าวด้วยไข้ประจำซางเจ้าเรือน      
-   กล่าวด้วยเม็ดยอดซางเจ้าเรือน ซางจรแทรก

(จ)   ผูก 5

กล่าวด้วยเหตุ  6  ประการ
-   กล่าวด้วยลักษณะตานโจรเป็นกำหนด      
-   กล่าวด้วยลักษณะซางเจ้าเรือนและซางจร
-   กล่าวด้วยลักษณะกำลังไข้ของซางเจ้าเรือน   
-   กล่าวด้วยกิมิชาติประจำกาย
-   กล่าวด้วยลิ้นซางเจ้าเรือนและซางจร      
-   กล่าวด้วยลักษณะซางโจรเพื่อพยาธิ

(ฉ)   ผูก 6

กล่าวด้วยเหตุ  6  ประการ
-   กล่าวด้วยลักษณะตานโจร        
-   กล่าวด้วยลักษณะธาตุบรรจบ
-   กล่าวด้วยลักษณะธาตุกำเนิด       
-   กล่าวด้วยธาตุพิการ
-   กล่าวด้วยธาตุแตก         
-   กล่าวด้วยอติสาร



ในตอนที่ 1  จะกล่าวถึง ผูก 1  ปริเฉท 1  และ ปริเฉท 2



พระคัมภีร์ปฐมจินดาผูก  1  ปริเฉท  1  กล่าวถึงเรื่อง  4  ประการ ดังนี้

          1. ว่าด้วยพรหมปโรหิต เป็นต้นมานั้น  ว่าเมื่อจะตั้งแผ่นดินใหม่ครั้งนั้นก็ให้บังเกิดกัลป์พินาศ   คือ   โลกฉิบหายด้วยเพลิงประลัยกัลป์นั้น  ไหม้ฟ้า แผ่นดิน  ภูเขา และเขาพระสุเมรุ  สิ้นแล้ว บังเกิดฝนห่าใหญ่  ฝนตก  7  วัน  7  คืน  น้ำท่วมชั้นพรหมปโรหิต  พรหมปโรหิตเล็งดูเห็นดอกอุบลเหนือน้ำ  5  ดอก ผุดเหนือน้ำ  จึงบอกพรหมทั้งหลาย แผ่นดินใหม่นี้จะบังเกิดสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้ามาตรัสรู้  5  พระองค์  
   
          1.  พระพุทธกกุสันโธ         
          2.  พระพุทธโกนาคม     
          3.  พระพุทธกัสสป
          4.  พระพุทธสมณโคดม     
          5.  พระศรีอริยเมตไตรย์
     
     แล้วจึงเกิดน้ำค้างเปือกตมตกลงมา  7 วัน  7  คืน  ทับซ้อนกันเข้าดุจดังสระลอยอยู่เหนือผิวน้ำหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์  เมื่อแผ่นดินและเขาพระสุเมรุตั้งขึ้นแล้วพระอิศวรอาราธนาพระพรหม  2  องค์  ทรงนามว่า  “ พรหมจารี ”   ลงมากินง้วนดิน  ครั้นกินแล้วทรงครรภ์คลอดบุตร  12  คนอันพวกนั้นเกิด  “ ครรภ์ปรามาศ ”  คือ  เอามือลูบนาภีก็มีบุตรเกิดแพร่ไป  4  ทวีป  แตกเป็นภาษาต่าง ๆ กัน   เช่น  ชมพูทวีปเรานี้เป็นกามราคะ  ส้องเสพเมถุนสังวาสจึงมีครรภ์

     




          มนุษย์ทั้งหลายถือปฏิสนธิแล้วคลอดมาจากครรภ์มารดา  ถ้าเป็นสตรีจะมีลักษณะที่แตกต่างจากบุรุษ  2  ประการ  กล่าวคือ
  
1. ต่อมเลือด (มดลูก)  
2. น้ำนมสำหรับเลี้ยงบุตร

           2. ว่าด้วยกำเนิดโลหิตระดูแห่งสตรี  ( ดูในคัมภีร์มหาโชตรัต )

           3. ว่าด้วยครรภ์ปฏิสนธิ  เป็นลักษณะแห่งการตั้งครรภ์          

          3.1 ครรภ์ตั้งได้เพราะโลหิตบิดามารดาระคนกัน    เมื่อตั้งอนุโลมปฏิสนธิ บิดา มารดากับธาตุทั้ง  4  บริบูรณ์พร้อมกัน   คือ  โลหิตบิดามารดาระคนกัน  มิได้วิปริต  จึงบังเกิดขึ้นด้วยธาตุน้ำ  คือ ต่อมโลหิตแห่งมารดา  ก็ให้บังเกิดตั้งขึ้นเป็นอนุโลมปฏิสนธินั้น

          3.2 เมื่อสัตว์ปฏิสนธินั้น สุขุมังปะระมาณูละเอียดนัก  เปรียบด้วยขนทรายจามรีเส้นหนึ่ง  เอาไปชุบน้ำมันงาใส  แล้วเอามาสลัดให้ได้  7  ครั้ง  แต่ติดอยู่ขนทรายจามรีมากน้อยเท่าไร  อันมูลปฏิสนธิแห่งสัตว์ทั้งหลายขนละเอียดดุจนั้น

          3.3  การเจริญเติบโตของการตั้งครรภ์  มีระยะเวลากำหนด  ดังนี้


     1. ครั้นโลหิตตั้งขึ้นได้อยู่  7  วัน  ก็บังเกิดเป็นปฐมกะละละ เรียกว่า ไชยเภท  คือ   มีระดูล้างหน้าครั้ง  1   หรือ  ถ้าไม่เป็นดังนั้น ก็ให้มารดาฝันเห็นวิปริต ก็รู้ว่าตั้งครรภ์ขึ้น

     2. ตั้งครรภ์แล้วมิได้วิปริต ครบ  7  วัน  ก็ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ

     3. เมื่อไปอีก 7  วัน   เป็นชิ้นเนื้อ

     4. เมื่อไปอีก 7  วัน   เป็นสัณฐานดังไข่งู

     5. เมื่อไปอีก 7  วัน   แตกออกเป็นปัญจสาขา  5  แห่ง คือ   ศีรษะ  1  มือ  2  เท้า  2

     6. เมื่อไปอีก 7  วัน    เกิดเกศา  โลมา  นขา  ฯลฯ ไปตามลำดับ

     7. เมื่อตั้งครรภ์ได้เดือนหนึ่งกับ  12  วัน   โลหิตจึงบังเกิดเวียนเข้าเป็นตานกยูงที่หัวใจ   เป็นเครื่องรับดวงวิญญาณ  หญิงเวียนซ้าย  ชายเวียนขวา    แต่มิได้ปรากฏออกมา
   
     8. เมื่อตั้งครรภ์ได้ครบกำหนด 3 เดือนแล้ว โลหิตนั้นก็แตกออกไปตามปัญจสาขา
  
     9. เมื่อได้  4  เดือน  จึงตั้งอาการ  32  บังเกิดตาและหน้าผากก่อน   สิ่งทั้งปวงจึงบังเกิดเป็นลำดับกันไป

     10. เมื่อตั้งครรภ์ได้   5   เดือน  จึงมีจิตและเบญจขันธ์  พร้อมรูปปักขันโธ  เมื่อตั้งเป็นรูปขันธ์แล้ว   วิญญาณนักขันธ์โธ   ก็ให้มีวิญญาณ   รู้สึกร้อนและเย็น  เมื่อครรภ์ครบกำหนด  ก็คลอดออกมา







     4. ว่าด้วยชาติทุกข์ คือ ความทุกข์เวทนาของกุมารเมื่ออยู่ในครรภ์

     4.1  เมื่อกุมารกุมารีอยู่ในครรภ์มารดา เมื่อมีวิญญาณขันธ์ ให้รู้จักความร้อนเย็นแล้ว ถ้ามารดาบริโภคอาหารเผ็ดร้อนเมื่อใด ก็จะทุรนทุรายดิ้นเสือกไปมา เวทนาก็บังเกิดตามมา คือ อยู่ในท้องมารดาลำบากทนทุกข์เวทนาดุจสัตว์ในนรก นั่งยองกอดเข่าเอามือกำไว้ใต้คาง ผินหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังแห่งมารดา ผินหลังออกสู่นาภี เหมือนดังลูกวานรอันนั่งอยู่ในโพรงไม้

     4.2  ทารกได้รับอาหารทางกระหม่อม  การนั่งนั้น   นั่งทับกระเพาะอาหารเก่า /อาหารใหม่ตั้งบนศีรษะ น้ำ อาหาร  เกรอะซาบลงไปทางกระหม่อม  เพราะทารกในครรภ์นั้นกระหม่อมเปิด  ครั้นมารดาบริโภคสิ่งใดจะซึมซาบจากกระเพาะข้าวเลื่อนไปยังกระหม่อม  ก็ได้รับอาหารจากมารดาชุ่มชื่นชูกำลัง  ถ้าไม่ได้บริโภคก็ทุรนทุรายระส่ำระสายดิ้นรนต่าง ๆ
        
     




             เมื่อมารดาอยากของดังกล่าว ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดโรค  อันทารกอยู่ในครรภ์นั้นบังเกิดโรคและพยาธิต่าง ๆ เมื่อกุมารเจริญพร้อมด้วยอินทรีย์และเบญจขันธ์ คือ  อาการ 32 บริบูรณ์  จึงคิดว่า  มารดานี้มีความเมตตากรุณาแก่เรามาก  อุตส่าห์บำรุงรักษาทนุถนอม  บุญคุณมากนักจะอุปมามิได้  เมื่อถ้วนกำหนดจะคลอดและได้ฤกษ์ยามดีแล้ว  กุมารกุมารีนั้นก็คลอดออกมา



5.  ว่าด้วยครรภ์รักษา  
           สตรีเมื่อตั้งครรภ์ได้  15  วัน   หรือ หนึ่งเดือนก็ดี  จะแสดงกายให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าตั้งครรภ์แล้ว  เพราะว่า  เอ็นผ่านหน้าอกนั้นเขียว  หัวนมคล้ำดำ  แล้วตั้งขึ้นเป็นเม็ดรอบหัวนมนั้น  แพทย์พึงรู้โดยสังเขป  ดังนี้

          1.  ถ้าสตรีตั้งครรภ์ได้  1  เดือน      ถ้าเป็นไข้ให้ราก   จุกในอุทร   แดกขึ้นแดกลงเป็นกำลัง  ละเมอเพ้อพกดังผีเข้า  ไม่รู้  เข้าใจว่าเป็นสันนิบาตหามิได้  บังเกิดโทษในครรภ์รักษานี้

          2.  ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  2  เดือน   ถ้าเป็นไข้จับ  จับเป็นเวลาทุกวันก็ดี  ให้นอนไม่หลับ  กินข้าวไม่ได้  เชื่อมมึน  เว้นวันจับวันก็ดี

          3.   ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  3  เดือน     ถ้าเป็นไข้ให้ลงและราก  จุกเสียด  แทงหน้า แทงหลัง  กินอาหารมิได้  นอนมิหลับ  ถ้าเป็นดังนี้ให้เกรงลูกจะตกเสีย

          4.  ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  4  เดือน     เป็นไข้เพื่อเสมหะทำโทษต่าง ๆ และเป็นลมให้เหงื่อตก  และตกโลหิตก็ดี  ถ้าประชุมกันทั้ง  4  สิ่ง เมื่อใด  ชื่อว่า  สันนิบาต

          5.  ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  5  เดือน     ถ้าเป็นไข้ให้ลงราก  จุกหน้า  จุกหลังเป็นสิ่งใด ๆ ก็ดี  ก็เป็นเพราะครรภ์รักษานั้นเอง     
   
         6.   ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  6  เดือน     ถ้าเป็นไข้ให้เจ็บแข้ง  เจ็บขา  เจ็บหน้าตะโพก และให้คันทวาร  อุจจาระ ปัสสาวะ  และเป็นลมจับเนือง ๆ

         7.   ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  7  เดือนไข้ให้เป็นต่าง ๆ  ให้ลง ให้รากโลหิตก็ดี  แลให้ร้อนภายใน  ให้เป็นไข้ไปต่าง ๆ

         8.   ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  8  เดือน     เป็นไข้ส่วนมากมิพอเป็นไร  เพราะกุมารแก่แล้ว  จวนจะคลอดอยู่แล้ว  ถ้าเป็นไข้  เป็นไข้รำเพรำพัดต่าง ๆ

         9.   ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  9  เดือน     เป็นไข้สิ่งใดๆ ก็ดี  ยังอยู่ในครรภ์รักษา  กุมารอยู่ในครรภ์แก่กล้า  ถ้าเป็นไข้ก็แต่ภายนอก เว้นแต่เป็นไข้อหิวาตกโรค แต่ถ้าเป็นฝีเอกตัดหรือ  ต้องฤทธิยาคมคุณไสย  กุมารอยู่ในครรภ์  จึงจะตายก่อนมารดาและจะพาเอามารดาไปด้วย    

       10.   ถ้าสตรีมีครรภ์ได้  10  เดือน     ถ้าสตรีผู้นั้นเป็นคนมีชาติอันสูง  เทพยดาจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ผู้นั้น

     
ถ้าเป็นไข้ให้ทำยา  ดังนี้
        จันทน์แดง   จันทน์ขาว  เชือกเขาหมวกแดง  เชือกเขาหมวกขาว  ชะลูด  อบเชย  ขอนดอก   สน  สัก กรักขี   แก่นประดู่  เปลือกไข่เน่า  เปลือกมะซาง เปลือกสันพร้านางแอ  ดอกสัตตบุษย์    ดอกบัวเผื่อน       ดอกบัวขม  ดอกลินจง  ดอกพิกุล  ดอกบุนนาค  ดอกสารภี  ดอกมะลิซ้อน     ดอกมะลิลา   รวมยา  23  สิ่ง  เสมอภาค
วิธีทำ    ทำเป็นจุลทำแท่งไว้  ละลายน้ำดอกมะลิ 
วิธีใช้     ทั้งกินและชโลมแก้สารพัดโรคในครรภ์รักษาทั้งปวง ตั้งแต่สตรีตั้งครรภ์ได้  1  เดือน จนถึง  10  เดือน  
     




6. ว่าด้วยครรภ์วิปลาส  สาเหตุที่ทำให้ครรภ์ตกไป

        1. หญิงจำพวกใดเมื่อตั้งครรภ์แล้ว  ให้บังเกิดซึ่งกามราคะ  วิตกหนาไปด้วยไฟราคะ อันเป็นสมุฎฐานกล้านัก   สัตว์ทั้งหลายมิอาจตั้งมูลปฏิสนธิได้ มีอันตรายต่าง ๆ  ครรภ์ตกไป

        2. หญิงจำพวกใดกินของมิควรจะกิน   เช่น  ของเผ็ดร้อน  ของทำให้ท้องร่วง  กินยา แสลงโรค  เป็นลักษณะแห่งธาตุน้ำกำเริบ

        3. หญิงจำพวกใดมีจิตมากไปด้วยความโกรธ  วิ่งไปมาโดยเร็ว  ขณะโกรธทอดทิ้งซึ่งตัวเองลงโดยแรง  ทำร้ายตนเอง  ปากร้ายด่าตัดพ้อผัวแห่งตนหรือผู้อื่นก็ดี  เขาทำโทษเอาถูกทุบถองโบยตี  บอบช้ำด้วยกำลังแรง  ครรภ์แห่งหญิงนั้นตกไป

        4. หญิงจำพวกใดเมื่อตั้งครรภ์แล้วภูตผีปีศาจทำโทษต่าง ๆ  เช่น  ต้องศาตราคมคุณไสยเข้ากระทำ   ครรภ์มิตั้งขึ้น   
   
7. ว่าด้วยครรภ์ปริมณฑล   การรักษาครรภ์ให้เป็นปกติ 

     สตรีมีครรภ์ตั้งแต่  3  เดือน  ไปจนถึง  10  เดือน  เป็นไข้ต่าง ๆ แก้ด้วยยาขนานใดมิฟัง  ให้แต่งยาขนานนี้กิน
โกฐสอ  โกฐเขมา  โกฐหัวบัว  โกฐเชียง  โกฐก้านพร้าว  เทียนดำ  เทียนแดง  เทียนขาว  เทียนเยาวภานี  เทียนสัตตบุษย์  ดอกบัวสัตตบุษย์  ดอกบัวเผื่อน  ดอกบัวขม  ดอกลินจง  ดอกจงกลนี  กฤษณา  กระลำพัก  ชะลูด  ขอนดอก  จันทน์แดง  จันทน์ขาว  สน  กรักขี  เทพทาโร  สมุลแว้ง  อบเชยเทศ รากสามสิบ  รวมยา  27  สิ่ง  เอาเสมอภาค ต้ม 3  เอา 1  กินแก้ครรภ์รักษาตลอดไป แต่ต้นจนปลายดีนัก



อีกขนานหนึ่งมีตัวยาดังนี้
     แก่นขี้เหล็ก  แก่นสะเดา  แก่นสน  จันทน์แดง  จันทน์ขาว  รากหญ้านาง  ผลมะขามป้อม  ผลกระดอม  เถาบอระเพ็ด  ผลมะตูมอ่อน  หัวแห้วหมู  ฝักราชพฤกษ์  ก้านสะเดา  33  ก้าน  รวมยา  13  สิ่ง
เสมอภาค ต้ม 3  เอา 1  กินแก้ครรภ์  รักษาไข้ต่าง ๆ ให้จับลง  รากเป็นโลหิต  และโลหิตทำพิษต่าง ๆ  แม้คลอดแท้งลูกโลหิตทำพิษร้อนให้หนาว   ระส่ำระสายก็ดีกินยานี้หาย

มีครรภ์ให้เป็นบิด  แก้ด้วยยา     เกสรบัวหลวง  ผลทับทิมอ่อน  เปลือกมะขาม  ครั่ง  เสมอภาค  บดละลายน้ำร้อนกิน

     หญิงมีครรภ์ตั้งแต่  8-9  เดือน  10  เดือน ให้เป็นพรรดึก  เป็นบิด  ถ้าจะแก้ให้เอายาดังนี้
  
     ดอกบัวน้ำทั้ง  5  ดอกจำปา  ดอกกระดังงา  ยา  7  สิ่ง  เอาสิ่งละ  1  บาท  เอาตรีกฏุก  มหาหิงคุ์  ชะเอมเทศ  เอาสิ่งละ  1  บาท  ทำเป็นจุล ทำแท่งไว้  ละลายน้ำผึ้ง  น้ำอ้อย  น้ำร้อนก็ได้  เอาพิมเสนรำหัด     

         หญิงมีครรภ์กุมารนั้นดิ้น   ถ้ามิเป็นดังนั้น  เป็นเพราะมารดากินของแสลงเผ็ดและร้อน  กุมารจึงดิ้นรนนัก  ถ้าจะแก้ให้เอายากล่อมนางนอน  (ยากล่อมกุมาร) ดังนี้ 

เทียนทั้ง  5  โกฐทั้ง  9  เกสรบัวหลวงทั้ง  5  รากไคร้เครือ  สังกรณี  ชะลูด  ขอนดอก  ชะเอมเทศ  น้ำประสานทอง  จันทน์ทั้ง  2  กฤษณา  กระลำพัก  ผิวมะตูมอ่อน ชะมด  พิมเสน  รวมยา  32  สิ่ง  เอาสิ่งละ 2  สลึง  ทำเป็นจุล  บดทำแท่งไว้   เอาน้ำดอกไม้เป็นกระสาย   ถ้ากระสับกระส่าย  ละลายน้ำดอกไม้เทศชะมด  พิมเสน  รำหัดกิน ให้กินตั้งแต่ครรภ์ได้ ๑ เดือนถึง ๑๐ เดือนเพื่อมิให้ครรภ์เป็นอันตรายด้วยพิษต่าง ๆ 
    
     แก้เชื่อม    ละลายน้ำกฤษณากิน
  
     แก้มูกเลือด  ละลายน้ำเปลือกแคแดงแทรกฝิ่นกิน

     ถ้าลงหนัก        ละลายน้ำกล้วยตีบกิน
      
     ถ้าเสมหะติดลำคอ    ละลายน้ำมะแว้งเครือ

     แก้ร้อน    ละลายน้ำดอกไม้กิน ทั้งทาและชโลม  แก้กุมารครรภ์รักษาได้ทุกประการ






     หญิงมีครรภ์แก่และคลอดบุตรยาก   ให้ต้มยานี้กิน   ขมิ้นอ้อยฝาน  3 ชิ้น  สมอเทศ  9  ผล   สมอไทย  9  ผล  สมอพิเภก  9  ผล  เถาวัลย์เปรียงยาวคืบหนึ่ง  3  ท่อน  ใบมะกาเต็มกำมือ  กลั้นใจ   ตัดหัวท้าย  ต้ม  3 เอา  1  กินให้ลง  2-3  เวลา     
   
     หญิงคลอดบุตรมดลูกไม่เข้าอู่   ใช้ยานี้  รากมะยมตัวผู้  รากส้มป่อย  รากมะขามขี้แมว   ใบขนุน  ยางแสมทะเล  เสมอภาค  ต้ม  3  เอา  1  กินเป็นยาชักมดลูก 

     หญิงคลอดบุตรรกขาดในครรภ์    ใช้ยาดังนี้   ยอดฝ้ายแดง  7  ยอด  พริกไทย  7  เม็ด    ขิง  7  ชิ้น  กระเทียม  7  กลีบ  บดด้วยน้ำสุรากินสะเดาะรกดีนัก



8. ว่าด้วยครรภ์ประสูติ   คือ  การคลอดบุตร  หมายถึง   กุมารออกจากครรภ์มารดา  ดังนี้



     1.  ครบกำหนดคลอด  เกิดลมกัมมัชชวาต  ตั้งครรภ์ได้ตราบเท่าถ้วนทศมาศ คือ  10  เดือน  เป็นกำหนด ตามปกติมีลมจำนวนหนึ่งคือ ลมกัมมัชชวาต  ก็บังเกิดพัดเส้นและเอ็นที่รัดตรึงกุมารให้กลับเอาศีรษะลงเบื้องต่ำ   เมื่อได้ฤกษ์ยามดีแล้วกุมารกุมารีก็คลอดออกมาจากครรภ์มารดา   จิตที่คิดแทนคุณมารดาเมื่ออยู่ในครรภ์ก็เคลิ้มลืมไปเสียสิ้น   เพราะสะดุ้งกลัวอำนาจแห่งลมกัมมัชชวาต  อุไมยดังบุรุษอันตกลงจากที่อันสูง  โดยประมาณได้ร้อยชั่วบุรุษ อันความสดุ้งตกใจก็อุปไมยดังนั้น ถ้าจะอุปมาความเจ็บ ก็อุปไมยดังช้างสารตัวกล้าอันบุคคลขับไล่ให้ออกช่องดาลอันน้อย  ขัดมิได้  จำไปด้วยกำลัง  กลัวหมอและควาน  อันความเจ็บปวดสุดพรรณนา  เหตุดังนั้น กุมาร  กุมารี ทั้งหลายจึงเกิดโรคต่างๆ  เพราะหมอผดุงครรภ์  และแม่มดข่มขี่เอาด้วยกำลังแรง  ซึ่งกุมาร  กุมารี  กระดูกและเส้นเอ็นยังอ่อนอยู่ ก็คลาดจากกันสิ้นดังนี้

   
     2.  แพทย์จะพยาบาลกุมาร  กุมารี  ให้ดูเมื่อแรกตกฟาก  เมื่อเกิดอำนาจแห่งลมกัมมัชชวาตพัดให้ศีรษะกุมาร กุมารีลงเบื้องต่ำ  กุมาร กุมารีตกใจดิ้นเฮือกไปมา มือคว้าตีนถีบ ฉีกสายรกนั้นขาดเสียสิ้น  อันว่าโลหิตในอุทรแห่งมารดาและโลหิตในสายรกขาดออกมากระจายสู่อุทรแห่งมารดา  ก็เข้าปากแห่งกุมาร กุมารีนั้นบ้าง  และออกจากช่องทวารของมารดานั้นบ้าง  ด้วยเหตุนี้แพทย์พึงรู้เถิด  เป็นสาเหตุสำคัญที่กุมาร กุมารีนั้นเลี้ยงยากหรือง่าย  ประการหนึ่ง





     3. ถ้ากุมาร กุมารี คลอดออกจากครรภ์มารดาคว่ำออกมาและร้องขึ้น  และอาเจียนโลหิตที่อมในปากประมาณเท่าฟองไข่แดง  กุมาร กุมารีนั้นจะเลี้ยงง่าย โรคเบาบาง  จะมิสู้มีตานซางจนโตใหญ่  ถึงจะมีก็ตามธรรมเนียมของกุมารผู้นั้น  มีโรคประการใดแพทย์รักษาง่าย



     4. ถ้ากุมาร กุมารี คลอดออกจากครรภ์มารดาหงายออกมาและร้องขึ้น   อันว่าโลหิตที่กุมารอมอยู่นั้น  ก็ตกลงไปในอุทรแห่งกุมาร กุมารี  จะเลี้ยงยาก  จะเกิดโรคต่าง ๆ  เขม่าตานซางจะบังเกิด  เมื่อเติบโตขึ้นจะบังเกิดโรคหิดและฝีต่างๆ  เป็นตานซาง  เป็นป้าง  ม้ามกระสาย  พุงมานและเป็นฝีภายในทั้ง  5  ประการ  เพราะโทษโลหิตที่กุมารอมกลืนเข้าไปนั้น  ทำให้บังเกิดโรคต่าง ๆ

     5. ถ้ากุมาร กุมารี คลอดออกจากครรภ์มารดาตะแคงออกมา  จะเป็นเบื้องซ้ายหรือเบื้องขวาก็ตาม   อันว่าโลหิตที่กุมารอมอยู่นั้น  ก็ตกเข้าไปในอุทรกุมาร  กุมารีบ้าง  และตกออกมาบ้าง   กุมาร กุมารี นี้จะเลี้ยงไม่ง่ายนัก  ไม่ยากนัก  เป็นปานกลาง  โรคภัยจะบังเกิดเป็นปานกลาง     
   
     6. ถ้ากุมาร กุมารี คลอดออกจากครรภ์มารดาตายด้านออกมาร้องมิออก  ถึงจะหงายจะคว่ำ  ตะแคงซ้าย/ขวา ก็ดี   ถ้าร้องมิออกแต่ยังหายใจอยู่  ให้พลิกตัวกุมารให้คว่ำเสียก่อน แล้วแก้ให้ร้องขึ้น  ถ้ายังร้องมิออกอยู่  ให้พ่นด้วยหัวหอม  เปราะหรือไพล  ถ้าร้องขึ้นได้โลหิตที่กุมารอมอยู่นั้นจะพลัดออกจากปากกุมารนั้นบ้าง   กุมารจะมิสู้มีโรคมากนัก

     7. กุมาร กุมารี คลอดออกจากครรภ์มารดายากนัก   ให้ขัดขวางด้วยเหตุสิ่งใด ๆ ก็ดี  บางทีหมอผดุงครรภ์แม่มดมิจักกำหนดว่าจะคลอดเมื่อใด  และไม่รู้ผันแปรแก้ไขในการคลอดก็ข่มเหงเอาออกมาด้วยกำลังของตน  กุมารคลอดโดยขัดขวางและคอกุมารเคล็ดแคลง  บางทีกระทบลงกับฟากเมื่อเติบโตขึ้น  มักเป็นฝีที่คางที่ฟองดันที่คอ   เป็นแต่เด็กอยู่ก็มีและให้เป็นฝีเอ็น  ฝีประคำร้อย   ฝีคันธมาลา  ฝีทั้ง  3  ประการนี้  เป็นด้วยกระทบชอกช้ำมาแต่เมื่อคลอดจากครรภ์มารดา

       
     8. ดูกุมารเลี้ยงง่าย  หรือยาก   เมื่อกุมารคลอดได้  7 วัน ให้ดูสียอดอกกุมารแดงดังดอกสัตตบุษย์ หรือ ดอกตะแบกช้ำ หรือ สีควันเทียน  ทั้ง  3  อย่างนี้  ถ้าเห็นสีใดสีหนึ่งก็ดี  โตประมาณเท่าใบพุทรา    กุมาร  กุมารีเลี้ยงยากนัก  ถ้าเห็นสีดังหม้อใหม่   กุมารเลี้ยงง่ายปานกลาง  ถ้าสีดังหม้อใหม่อ่อนๆ กุมารเลี้ยงง่ายนัก

     9. กุมาร กุมารี คลอดออกจากครรภ์มารดาได้  3  วัน  ให้ดูที่นาภีพ้นสะดือขึ้นมาถึงยอดอก  ถ้าเห็นเป็นแผ่นเท่าใบพุทรา  เท่าใบมะขาม  ให้เกรงลมสุนทรวาต  ใน  3 สัตตาห (21 วัน)  คือ  3  สัปดาห์  ข้างหน้า  ถ้าเป็นดังนี้ แม้แก้กุมารไว้รอด  เมื่อปลายมือก็จะเป็นต่าง ๆ  ถ้าจะแก้ให้แก้ด้วยยาทุเลา ถ้าถ่ายยาให้แผ่นเสมหะในท้องกระจายเสียให้ได้  จึงจะคลายโรค  ถ้าแก้มิฟัง  แผ่นเสมหะกำเริบโตขึ้นกว่าเก่า  พึงรู้ว่าใน  21  วันข้างหน้าจะไม่รอดเลย




     
     10. กุมาร กุมารี เป็นดานเสมหะอยู่ในอุระเบื้องขวา   ทำให้กุมารนั้นมักดูสูง  กินข้าว ดื่มนม  มักอาเจียน  อุจจาระ ปัสสาวะเหลืองเป็นกำเนิดแห่งกองลมวาตภักต์   ถ้าแผ่นเสมหะยังค้างอยู่จะทำให้ซูบผอม    ถ้าแผ่นเสมหะโตขึ้นจะทำให้ลงท้อง  ท้องขึ้น ชัก เท้ากำ  มือกำ  ตาช้อนดูสูง  ให้เชื่อมให้มึน  เมื่อย  หอบ  อาเจียน  กินข้าว   กินนมมิได้  ถ้าเป็นดังนี้  จะรอด 1  ส่วน  เสีย  2  ส่วน   แต่ถ้าตัวร้อนเป็นเวลาชักเท้ากำมือกำตาช้อนดูสูง  เป็นดังนี้ไม่รอดเลย     
   
     11. กุมาร กุมารี แรกคลอดออกจากครรภ์มารดาได้  7  วัน  11  วัน  15  วัน  21  วัน ให้ขอบตาเขียว  นอนสดุ้ง  ตาช้อนดูสูง  ชักเท้ากำ  มือกำ  หลังแข็ง  ท้องขึ้น  ลิ้นกระด้าง  คางแข็ง  เป็นกำเนิดลมสุนทรวาต  ลมวาตภักต์  และสพั้นไฟ  ซึ่งเป็นดังนี้   เพราะกุมารอมก้อนโลหิตแห่งมารดาออกมาแล้วกลืนเข้าไป  จึงบังเกิดโทษนั้น ๆ  ถ้าเป็นดังนี้  จะตาย  10  ส่วน  รอด  1  ส่วน

     12. สำรอก  7  ประการ                 
                                                             
     ทารกเปลี่ยนอิริยาบทช่วงขวบปีแรก อาจเกิดโรคแทรก สำรอก 1 ครั้ง และซางทำโทษ                                     
   1.  รู้ชันคอ      เพราะเส้นเอ็นไหว  ทรางจึงพลอยทำโทษ 
                             
   2.  รู้คว่ำ         เพราะกระดูกสันหลังคลอน     (กล้ามเนื้อขยายตัว) 
             
   3.  รู้นั่ง           เพราะกระดูกก้นกบขยายตัว     (กระดูกสันหลังคลาด) 
          
   4.  รู้คลาน       เพราะสะโพกและเข่าเคลื่อน  
               
   5.  ดอกไม้       ฟันขึ้น    
                                             
   6.  รู้ย่าง (สำรอกกลาง) กระดูก 300 ท่อน สะเทือน เส้นเอ็นกระจาย

   7.  รู้ยืนรู้ย่าง (สำรอกใหญ่ )   ไส้ พุง ตับ ปอด คลอน

     


ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต  

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณในความพยายามอธิบายความในคัมภีร์

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากนะคะได้สาระเนื้อหากระชับชัดเจนดีมากค่ะ

    ตอบลบ
  3. ในเรื่องทราง หละ คืออะไรครับ

    ตอบลบ
  4. สรุปเนื้อหาได้ครอบคุมดีมากค่ะ เพื่อให้ผู้กำลังศึกษาแพทย์แผนไทยได้นำไปอ่านให้เข้าใจง่ายนะค่ะ

    ตอบลบ