คัมภีร์ธาตุวิภังค์


โดย  ยส  พฤกษเวช

พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์                      

บุคคลจะถึงแก่ความตายสิ้นอายุนั้น   ต้องอาศัยธาตุเป็นหลัก เป็นประธาน

สาเหตุการเสียชีวิตของบุคคล

๑. ตายด้วยปัจจุบันกรรมและปัจจุบันโรค

ตายด้วยปิศาจและไข้เพื่อโอปักกะมิกาพาธ   ท่านทุบถองโบยตีบอบช้ำ  และต้องราชอาญาแห่งพระมหากษัตริย์ให้พิฆาตฆ่าเสียด้วยหอกดาบปืนไฟนั้น   ตายโดยเร็ว  โดยด่วน  มิได้ตายเป็นปกติ  โดยลำดับขันธชวร   ธาตุทั้ง  ๔  มิได้ล่วงเป็นลำดับเลย





๒. ตายด้วยโบราณกรรมและโบราณโรค

ตายโดยกำหนดสิ้นอายุปริโยสานเป็นปกตินั้น  ธาตุทั้ง  ๔  ก็อันตรธานสูญหายเป็นลำดับกันไป  คือ  ดิน  น้ำ ลม ไฟ แต่มิได้ขาดสูญหายพร้อมกันทีเดียว   ย่อมจะสูญขาดไปแต่ทีละ  ๒ , ๓ , ๔ , ๕ สิ่ง ขาดถอยลงไปเป็นลำดับ


ว่าด้วยธาตุทั้ง  ๔  ขาดและเหลือ  คือว่า  บุคคลเมื่อจะสิ้นอายุของตนนั้น


ปัถวีธาตุ         ๒๐     ขาดไป      ๑๙      หัวใจ (หทยัง)  ยังอยู่
อาโปธาตุทั้ง  ๑๒     ขาดไป      ๑๑      ดี  (ปิตตัง)  ยังอยู่
วาโยธาตุ         ๖      ขาดไป        ๕      ลมหายใจเข้าออก  ( อัสสาสะปัสสาสะ)  ยังอยู่
เตโชธาตุ           ๔   ขาดไป         ๓      ไฟธาตุอบอุ่นกาย  (สันตัปปัคคี)  ยังอยู่

ถ้าธาตุทั้งหลายขาดสูญสิ้นพร้อมกันดังกล่าวมานี้  ท่านว่าย่อมเป็นอาการตัด   แพทย์ผู้ใดจะเยียวยารักษาสืบไปมิได้เลย   ถ้าธาตุทั้ง  ๔ จะขาดจะหย่อนไปแต่  ๑ , ๒ , ๓  สิ่ง  ดังนั้นยังจะพยาบาลได้



ว่าด้วยธาตุทั้ง  ๔  พิการตามฤดู
คือ  ตามธรรมดาโลกนิยมปีหนึ่ง  ๑๒  เดือน  เป็น  ๓  ฤดู  แต่ในคัมภีร์แพทย์นี้ท่านจัดเป็น  ๔  ฤดู  ฤดูหนึ่ง  ๓  เดือน


เดือน  ๕ , ๖ , ๗        เตโชธาตุ   ชื่อ  “ สันตัปปัคคี”   พิการ
ให้เย็นในอก  ให้วิงเวียนในอก  มักให้กินอาหารบ่อย  ถ้าบริโภคอาหารอิ่ม  มักให้จุกเสียดในอก  อาหารมักพลันแหลก  มิได้อยู่ท้อง   ให้อยากบ่อย ๆ  จึงให้เกิดลม  ๖  จำพวก  คือ




 
เดือน  ๘ , ๙ , ๑๐        วาโยธาตุ   ชื่อ  “ ชิรณัคคี”   พิการ

ให้ผอมเหลือง   ให้เมื่อยทุกข้อทุกลำทั่วสรรพางค์กาย  ให้แดกขึ้นแดกลง  ให้ลั่นโครก ๆ  ให้หาวเรอ  วิงเวียนหน้าตา  หูหนัก  มักให้ร้อนในอกในใจ   ให้ระทดระทวย  ย่อมหายใจสั้น  ย่อมเหม็นปากและให้หวานปาก   มักให้โลหิตออกทางจมูก ทางปาก   กินอาหารไม่รู้จักรส   คือ  วาโยธาตุพิการ


เดือน  ๑๑ , ๑๒ , ๑        มักกินอาหารผิดสำแลง   อาโปธาตุพิการ





เดือน  ๒ , ๓ , ๔        เป็นเพราะนอนผิดเวลา    ปัถวีธาตุกำเริบ






ว่าด้วยธาตุทั้ง  ๔  พิการ

เตโชธาตุพิการ

๑.  ปริณามัคคีพิการ  (ไฟสำหรับย่อยอาหาร)   ให้ร้อนในอกในใจ  ให้บวมมือและเท้า ให้ไอเป็นมองคร่อ  ให้ท้องขึ้นท้องพอง  ให้ผะอืดผะอม




๒.  ปริทัยหัคคีพิการ
  (ไฟสำหรับร้อนระส่ำระสาย)   ให้มือเย็น เท้าเย็น  ชีพจรไม่เดิน ประการหนึ่ง  ชีพจรขาดหลัก ๑  ก็ดี ๒  หลัก ก็ดี   บางทีให้เย็นเป็นน้ำ  แต่ภายในร้อน ให้รดน้ำมิได้ขาด   บางทีให้เย็นแล้วให้เหงื่อตกเป็นดังเมล็ดข้าวโพด

๓.  ชิรณัคคีพิการ   (ไฟสำหรับเผาให้แก่คร่ำคร่า)   คือ  มัจจุราชนั้นใช้มาประเล้าประโลมฝูงสัตว์ทั้งหลาย   ชายหญิงทั้งปวง  เมื่อชีวิตออกจากร่างกายแห่งตนนั้น  วิปริตไปต่าง ๆ  ให้หน้าผากตึง  นัยน์ตาแลดูไม่รู้จักอะไรแล้วกลับมาเล่า   หูตึงแล้วกลับไปได้ยินมาเล่า  จมูกไม่รู้จักกลิ่นเหม็นและหอมแล้วกลับมารู้จักกลิ่นเห็นหอมเล่า  ลิ้นไม่รู้จักรสอันใดแล้วกลับมารู้จักรสอีกเล่า  กายนั้นถูกต้องสิ่งใด ๆ  ไม่รู้สึกตัวก็กลับมารู้สึกตัวอีกเล่า  แปรไปแปรมาดังนี้  จึงได้ชื่อว่า  ชิรณัคคีนั้นแตก

๔.  สันตัปปัคคี    (ไฟสำหรับอุ่นกาย)    นั้น  ถ้าแตกเมื่อใด  แพทย์ทั้งหลายจะแก้มิได้เลย  ตายเป็นอันเที่ยงแล


วาโยธาตุพิการ

๑.  อุทธังคมาวาตาพิการ  (พัดตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ)   ให้ดิ้นรน มือและเท้าขวักไขว่  ให้พลิกตัวไป ๆ มา ๆ  ให้ทุรนทุราย  ให้หาว ให้เรอบ่อย ๆ
    
๒.  อโธคมาวาตาพิการ  (พัดตั้งแต่ศีรษะตลอดปลายเท้า)   ให้ยกมือและเท้ามิได้  ให้เมื่อยขบขัดทุกข้อ ทุกกระดูก  ให้เจ็บปวดเป็นกำลัง

๓.  กุจฉิสยาวาตาพิการ  (ลมพัดในท้องนอกลำไส้)   ให้เจ็บท้อง ให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้ลั่นอยู่จ๊อก ๆ  ให้เจ็บในอก  ให้สวิงสวาย  ให้เจ็บแดกขึ้นแดกลง



๔.  โกฏฐาสยาวาตาพิการ  (พัดในกระเพาะอาหารและลำไส้)   ให้เหม็นข้าว  ให้อาเจียน  ให้จุกอก  ให้เสียดและแน่นหน้าอก

๕.  อังคมังคานุสารีวาตาพิการ  (ลมพัดอยู่ทั่วสรีระกายตั้งแต่กระหม่อมตลอดถึงปลายเท้าเป็นที่สุด)    ให้โสตประสาทตึง  คนเจรจามิได้ยิน  แล้วให้เป็นหิ่งห้อยออกจากลูกตา  ให้เมื่อยมือและเท้า  เมื่อยแข้งขาทั้ง  ๒  ข้าง   ดังกระดูกจะแตก  ให้ปวดในกระดูกสันหลังดังว่าเป็นฝี   ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว   คลื่นเหียนอาเจียนลมเปล่า  กินอาหารไม่รู้รส   เป็นดังนี้ คือ  ธาตุลมแตก

๖.  อัสสาสะปัสสาสะวาตา    (ลมสำหรับหายใจเข้าออก)     นั้น  จะได้แตกหามิได้   ถ้าสิ้นลมหายใจเข้าและออกเมื่อใด  ก็ตายเมื่อนั้น


อาโปธาตุพิการ

๑.  ปิตตัง คือ  ดี  ถ้าพิการหรือแตก  ทำให้คนผู้นั้นหาสติมิได้

๒.  เสมหัง คือ เสมหะพิการหรือแตก  ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว  ให้จับไข้เป็นเวลา   บางทีลงเป็นโลหิต เป็นเสมหะเน่า ให้ปวดมวน

      ถ้าจะแก้ให้เอา     ผลผักชีลา ๑ ลำพัน ๑  เปลือกมูกหลวง ๑  น้ำเต้าขม ๑  กระดอมทั้งห้า ๑ แก่นขี้เหล็ก ๑  ต้ม ๓  เอา  ๑  ให้กินแก้จับเสียก่อน  แล้วจึงแต่งยาแก้เสมหะต่อไปเถิด

๓.  ปุพโพ คือ  หนองพิการหรือแตก  ให้ไอเป็นกำลัง  กายซูบผอมหนัก  กินอาหารไม่รู้รส  มักเป็นฝีในท้อง

๔.  โลหิตตัง คือ  โลหิตพิการหรือแตก ก็ดี  ท่านกล่าวไว้ว่าโลหิตร้าย  แพทย์สมมุติว่าเป็นไข้กำเดา  เพราะโลหิตกำเริบ  ถ้าโลหิตแตก  ทำพิษต่าง ๆ  บางทีให้ปวดศีรษะ  นัยน์ตาแดงเป็นสายโลหิต  ให้งงศีรษะ  หนักหน้าผาก เพราะโลหิตกำเริบ



          ถ้าผุดขึ้นภายนอกให้เป็นวงแดง เขียว หรือเหลือง  แล้วทำพิษต่าง ๆ  ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง  แพทย์ทั้งปวงสมมุติว่า  เป็นไข้รากสาดหนึ่ง  ปานดำ ปานแดง  สายฟ้าฟาด  จอมปราสาท  ข้าวไหม้น้อย  ข้าวไหมใหญ่  หงส์ระทด  เปลวไฟฟ้า  ประกายดาด  ประการเพลิง  ดาวเรือง  ฟองสมุทร  มหาเมฆ  มหานิล  ลำลาบพระเพลิง  ไฟลามทุ่ง  สมมุติเรียกชื่อต่าง ๆ เพราะโลหิตแตกกระจายซ่านออกผิวหนังข้างนอก

          ฝ่ายข้างในนั้นเล่า  ก็ทำพิษต่าง ๆ  บางทีลงเป็นโลหิต  บางทีให้อาเจียนเป็นโลหิต  บางทีโลหิตแล่นเข้าจับหัวใจ  ให้คลั่งคลุ้มทุรนทุราย ให้ละเมอเพ้อพกไป  หาสติสมปฤดีมิได้  แพทย์ทั้งปวงสมมุติว่า  สันนิบาตโลหิตก็ว่า  ทั้งนี้เป็นเพื่อโลหิตสมุฏฐาน  บางทีให้ร้อน ให้หนาว  บางทีให้ชักมือกำท้ากำ  ขัดหนักขัดเบา  บางทีเบาเป็นสีแดง สีเหลืองและดำก็มี  ให้เป็นไปต่าง ๆ

          ถ้าในธาตุน้ำพิการหรือแตกเป็น ๒ , ๓ , ๔ , ๕  ประการแล้ว  จะแก้มิได้เลย  ผู้นั้นจะถึงแก่ความตายใน  ๓  วันนั้น  ถ้าแต่ประการใดประการหนึ่ง  ๒  หรือ  ๓  สิ่งก็ดี  ให้แก้ดูก่อน  อันที่โลหิตแตกซ่านออกมาตามผิวหนังนั้น  ท่านให้เอายาไข้เหนือมาแก้  และเอายากาฬมาแก้เถิด  ถ้าแพทย์จะเอายาที่เผ็ดและร้อนมาแก้ไม่ได้  ชอบแต่ยาอันเย็นและสุขุม หรือหอมและฝาดขมมาแก้จึงจะระงับซึ่งโลหิตกระทำภายในทรวงอก  ให้ลงโลหิต  อาเจียนโลหิต  ท่านเอายาลักปิดและยาแก้อติสารมาแก้เถิด  ถ้ามิฟังให้เอายาในคัมภีร์ธาตุน้ำมาแก้เถิด

๕.  เหงื่อ      พิการ เหงื่อแตกและเหงื่อตกนัก  แล้วให้ตัวเย็น  และตัวนั้นขาวซีด สากชาไปทั้งตัว  ให้สวิงสวาย   หากำลังมิได้

๖.  มันข้น      พิการหรือแตก   เหมือนโลหิตเสียดุจเดียวกัน   ออกผิวหนังผุดเป็นวง   บางทีแตกเป็นน้ำเหลือง  ให้ปวดแสบปวดร้อนเป็นกำลัง

๗.  น้ำตา       พิการ  ให้น้ำตาตกหนัก  แล้วก็แห้งไป  ลูกตานั้นเป็นดังเยื่อผลลำใย

๘.  น้ำมันเหลว    ถ้าแตกกระจายออกทั่วตัว  ให้ตัวเหลือง  ตาเหลือง  เว้นแต่อุจจาระปัสสาวะไม่เหลือง  ตำราหนึ่งว่า  อุจจาระ ปัสสาวะก็เหลือง   บางทีลงและให้อาเจียนดังป่วงลม  คือ  โทษน้ำเหลืองนั่นเอง ถ้าจะแก้ให้แก้ด้วยยาฝาด  ถ้ามิหยุดให้ชำระน้ำเหลืองเสียก่อน  จึงแต่งยาบำรุงธาตุต่อไป
ยาหอมพฤกษเวชโอสถ

๙.  น้ำลาย พิการให้ปากเปื่อย  คอเปื่อย  น้ำลายเหนียว  บางทีเป็นเม็ดยอดขึ้นในลิ้น ในคอ  ทำพิษ
ต่าง ๆ

๑๐.  น้ำมูก พิการ  ให้ปวดในสมอง  น้ำมูกไหล  ตามัว  ให้ปวดศีรษะให้วิงเวียนศีรษะ  โทษ  ๔  ประการนี้

๑๑.  ไขข้อ พิการหรือแตก  อันว่าไขข้อนี้อยู่ในกระดูก  มักกระทำให้เมื่อยในข้อในกระดูก  ดุจดังว่าจะคลาดออกจากกัน  ให้ขัดตึงทุกข้อ  จะแก้เป็นอันยากนัก ด้วยว่าอยู่ในกระดูก  ให้กินยาแก้ดูตามบุญเถิด

๑๒.  มูตร   พิการหรือแตก  ให้ปัสสาวะวิปลาศ   คือ  ให้น้ำเบามีสีแดงเหลืองดังขมิ้น  บางทีขาวดังน้ำข้าวเช็ดจากหม้อ  ให้ขัดเบา  ขัดหัวเหน่าฟก บางทีเป็นมุตกิด  มุตฆาต  กาฬขึ้นในมูตร  ให้มูตรพลิกแปรไปต่าง ๆ  


ปัถวีธาตุ  ๒๐  พิการ

๑.  ผมพิการ ให้เจ็บสมอง  ศีรษะชา  ให้ผมหล่น

๒.  ขนพิการ ให้เจ็บทุกเส้นขนทั่วสรรพางค์กาย   ถ้าจะแก้ให้เอาน้ำมันยาแก้ผมพิการนั้นมาแก้เถิด

๓.  เล็บพิการ ให้ต้นเล็บเจ็บช้ำดำเขียว  บางทีให้ฟกบวม  คือ  เป็นตะมอย  หัวดาว  หัวเดือน  บางทีให้เจ็บช้ำเลือดช้ำหนอง  ให้เจ็บปวดเป็นกำลัง

๔.  ฟันพิการ ให้เจ็บปวดฟกบวมเป็นกำลัง  ถึงฟันหลุดแล้วก็ดี  มักเป็นไปตามประเพณีสารวัฏ   ให้เจ็บฟันและไรฟัน  เหงือก ตลอดสมอง ถ้าฟันยังมิหลุดมิถอน  ก็ให้แก้ตามกระบวนรำมะนาดนั้นเถิด

๕.  หนังพิการ ให้สากชาทั่วทั้งตัว  แมลงวันจะจับหรือไต่อยู่ที่ตัวก็ไม่รู้สึก   ให้แสบและร้อนเป็นกำลัง

๖.  เนื้อพิการ ประมาณ  ๕๐๐  ชิ้น  ถ้าพิการ  มักให้เสียวซ่านไปทั้งตัว   มักให้ฟกขึ้นที่นั้น  บวมขึ้นที่นี่  เป็นพิษ  บางทีร้อนดังไฟลวก บางทีให้ฟกขึ้นดังประกายดาด  ประกายเพลิง

๗.  เอ็นพิการ เส้นประธาน  ๑๐  เส้น  และเส้นบริวาร ๒,๗๐๐  เส้น  ให้หวดหวั่นไปทั้งสิ้น  ที่กล้าก็กล้า  ที่แข็งก็แข็ง  ที่ตั้งดานก็ตั้งดาน  ที่ขอดก็ขอดเข้าเป็นก้อนเป็นเถาไป  ที่เป็นโทษหนักนั้นแต่เส้นอันชื่อว่า  สุมนา  และอัมพฤกษ์ เส้นสุมนานั้นผูกดวงใจ  มีแต่จะให้สวิงสวายทุรนทุรายหิวโหยหาแรงมิได้  เส้นอัมพฤกษ์นั้นมีแต่จะให้กระสับกระส่าย  ให้ร้อนให้เย็น  ให้เมื่อย  ให้เสียวไปทุกเส้นทุกเอ็นทั่วทั้งตัว  ตั้งแต่ศีรษะตลอดจนไปถึงที่สุดจนเท้า  บางทีให้เจ็บเป็นเวลา  แต่เส้นอัมพฤกษ์นั้นให้โทษ  ๑๑  ประการ  ถ้าให้โทษพร้อมกันทั้ง  ๒,๗๐๐  เส้นแล้วก็ตายแล  ถ้าเป็นแต่  ๑ , ๒ , ๓ , ๔  หรือ  ๕  เส้น ยังแก้ได้

๘.  กระดูกพิการ   กระดูก  ๓๐๐  ท่อน  เมื่อพิการก็ดี  แตกออกก็ดี  น้ำมันซึ่งจุกอยู่ในข้อนั้นละลายออก
ยาหอมพฤกษเวช
 แล้วให้เจ็บปวดกระดูก  ดุจดังว่าจะเคลื่อนคลาดออกจากกันทั้ง  ๓๐๐  ท่อน  โทษดังนี้จะแก้เป็นอันยากนัก  แต่ท่านไว้ยาให้แก้ตามบุญเกิดเมื่อยในข้อในกระดูก

๙.  สมองกระดูกพิการ ให้ปวดตามแท่งกระดูก   ยาที่แก้นั้นก็แก้อย่างเดียวกันกับกระดูก

๑๐.  ม้ามพิการ ให้ม้ามหย่อน  เป็นป้าง

๑๑.  หัวใจพิการ มักให้คนนั้นเป็นบ้า  ถ้ายังอ่อนอยู่ให้คุ้มดีคุ้มร้าย  มักขึ้งโกรธ  บางทีระส่ำระสาย   ให้หิวโหยหาแรงมิได้ เป็นไปต่าง ๆ นา ๆ                                                        

 ๑๒.  ตับพิการหรือแตก   เป็นโทษ  ๔  ประการ  ล่วงเข้าอติสาร  คือ  กาฬผุดขึ้นในตับ  ให้ตับหย่อน  ตับทรุด  บางทีเป็นฝีในตับ  ย่อมให้ลงเป็นเลือดสด  ออกมาอันนี้คือ  กาฬมูตร  ผุขึ้นต้นลิ้นกินอยู่ในตับ  ให้ลงเสมหะและโลหิตเน่า  ปวดมวนเป็นกำลัง  ให้ลงวันละ  ๒๐  หรือ  ๓๐  หน  ให้ตาแข็งและแดงเป็นสายเลือดผ่านตาไป

แพทย์ไม่รู้ถึงสำคัญว่าเป็นบิด  โทษกาฬมูตรกระทำต่าง ๆ  ย่อมนั่งก้มหน้าอยู่มิได้ดูคน  สมมุติว่าปิศาจ กระสือเข้าปลอมกิน  เพราะคนไข้นั้นมักเพ้อหาสติมิได้  ย่อมเจรจาด้วยผี  มิใช่ปิศาจและกระสือเลย  โรคหมู่นี้มันหากเป็นเอง  เป็นเพราะโทษปัถวีธาตุแตก  ให้ระสำระสายเป็นกำลัง  บริโภคอาหารมิได้  ให้หายใจไม่ถึงท้องน้อย  ลักษณะทั้งนี้  คือ  ปัถวีธาตุแตกให้โทษ  ๔  ประการ  ดังกล่าวมานี้  ถ้าพร้อมกันแล้ว  แพทย์ผู้ใดจะแก้เป็นอันยาก  เป็นโรคตัดแล  ถ้าเป็นแต่ประการใดประการหนึ่งยังมิพร้อมทั้ง  ๔  ประการ  ท่านให้แก้ด้วยสรรพคุณยา ตามบุญเถิด  ถ้าแพทย์ผู้ใดจะแก้ให้แก้แต่ต้นไข้ไปก่อน  เพราะปัถวีธาตุแตกก่อน

๑๓.  พังผืดพิการ ให้อกแห้ง  กระหายน้ำ   อย่างนี้คอ  โรคริดสีดวงแห้ง  นั้นแล

๑๔.  พุงพิการ ให้ขัดอก  ให้ท้องขึ้นท้องพอง  ให้แน่นในอก  ในท้อง  กินอาหารมิได้

๑๕.  ปอดพิการ  กระทำอาการดุจดังไข้พิษ  กาฬขึ้นในปอดกจึงให้ร้อนในอก  กระหายน้ำ  ให้หอบดุจดังสุนัขหอบแดดจนโครงลด  ห้ำกินน้ำจนอดลอยจึงหายอยากแล  บางทีกินจนอาเจียนน้ำออกมาจึงหายอยาก


ยาแก้มดลูกพิการ
๑๖.  ไส้น้อยพิการ   กินอาหารผิดสำแลง  ให้ปวดท้อง ให้ขัดอก  บางทีให้ลงให้อาเจียน  อันนี้คือ ลม
กัมมัชวาต  พัดเอาแผ่นเสมหะให้เป็นดาน  กลัดเข้าในท้อง ในทรวงอกก็ตัดอาหาร ท่านว่าไส้ตีบ

๑๗.  ไส้ใหญ่พิการ ให้วิงเวียนหน้าตา  จะลุกขึ้นให้หาวเรอ  ให้ขัดอกและเสียดข้าง   ให้เจ็บหลังเจ็บเอว  ให้ไอเสมหะขึ้นคอ   ให้ร้อนคอ ร้อนท้องน้อย  มักให้เป็นลมเรอโอก  ให้ตกเลือดตกหนอง

๑๘.  อาหารใหม่พิการ  คือ  กินข้าวเข้าไปอิ่มแล้วเมื่อใด  มักให้ร้อนท้องนัก  บางทีลงดุจกินยารุ  บางทีให้สะอึกขัดหัวอก  แล้วให้จุกเสียดตามชายโครง  ผะอืดผะอม  สมมุติว่าไฟธาตุนั้นหย่อน  โรคทั้งนี้ย่อมให้โทษเพราะอาหารมิควรกินนั้นอย่าง ๑  กินอาหารดิบอย่าง  ๑  ลมในท้องพัดไม่ตลอด  มักแปรไปเป็นต่าง ๆ  บางทีให้ลงท้อง บางทีให้ผูกเป็นพรรดึก  ให้แดกขึ้นแดกลง  กินอาหารมิได้

๑๙.  อาหารเก่าพิการ คือ ซางขโมยกินลำไส้  ถ้าพ้นกำหนดตานซางแล้ว  คือ  เป็นริดสีดวงนั้นเองแล

  ๒๐.  เยื่อในสมองศีรษะพิการ        ให้เจ็บกระบาลดังจะแตก  ให้ตามัว  หูตึง  ปากและจมูกให้ชักขึ้นเฟ็ดไป   ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง  ลักษณะดังนี้  เดิมเมื่อจะเป็น  เพราะโทษแห่งลมปะกัง  ให้ปวดหัวเป็นกำลัง  ถ้าแก้มิฟังตาย
                     







ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น