คัมภีร์ปฐมจินดา ตอนที่ 4


โดย  ยส  พฤกษเวช


คัมภีร์ปฐมจินดา ตอนที่ 4  จะกล่าวถึง ผูก 4  ผูก 5  และ ผูก 6







พระคัมภีร์ปฐมจินดา   ผูก  4   กล่าวเฉพาะเรื่องสำคัญ  3  ประการ


 1.  กล่าวด้วยพระคัมภีร์อภัยสันตา

      กุมารกุมารีเกิด วันอาทิตย์  อังคาร  เสาร์    
   
     ถ้าคลอดเวลาเที่ยง  บ่าย  เที่ยงคืน  เป็นลักษณะแห่งซางไฟ  ซางแดง  ซางโจร  เป็นเจ้าเรือน   รักษาให้ระวังภายใน  อย่าให้แม่ซางจับเอาภายในได้   ถ้าจับขั้วตับ  หัวใจ  แพทย์ เยียวยายากนัก     จับไส้แก่มีอาการลงท้อง  จับศีรษะเป็นปุ่ม  จับตาเสียตา แต่ตัวไม่ตาย  จับหัวใจลงเป็นโลหิตสด ๆ ออกมาก่อนแล้วเน่า  ทำให้ตาเหลืองซีด  ปากแดง   ถ้าลูกตาเหลืองเมื่อใดให้ตกมูกตกโลหิต  ตับหย่อน  จับเป็นเวลา  แล้วจึงจับลำคอกินข้าว กินนมมิได้  ปากแห้ง  คอแห้ง  จับทรวงอกให้อยากน้ำ  กินนมมิได้แล้วให้ตาแห้งหาน้ำตามิได้  ถ้าวางยาผิดกุมารตาย
 
     กุมารกุมารีเกิด วันจันทร์  พุธ

     ถ้าคลอดเวลาเช้า  เที่ยง  ก็ดี  ครั้นออกจากเรือนไฟได้  3  เดือน  จึงตั้งกำเนิดซางน้ำและซางสะกอเจ้าเรือน เมื่อเกิด   ตั้งแต่ลำคอลงมาจนถึงเพดานปากจำพวกหนึ่ง  อีกพวกหนึ่งกินนอกไส้ขึ้นมาถึงต้นลิ้นแล้วเป็นเกล็ดดังปลาตะเพียนแล้วเปื่อยออกไปถึงต้นไส้ทำให้ลงแดง กระหายน้ำ  เชื่อมมัว  วางยาชอบหาย

      กุมารกุมารีเกิด วันพฤหัสบดี   ศุกร์    

      ถ้าคลอดเวลาเที่ยง  บ่าย  เที่ยงคืน  เป็นลักษณะแห่งซาง เป็นเกิดซางโค  ซางช้างเป็นเจ้าเรือน ซางข้าวเปลือก  ซาง กระดูก เป็นซางจร  มาแทรก  ถ้าคลอดเวลารุ่งหรือเวลาค่ำก็ดี  มารดาออกเรือนเพลิงได้  1 เดือน  15  วัน  แม่ซางขึ้นคอกับลิ้น  แรกขาวดังดีบุก  ต่อมา 2-3  วัน เหลืองดังสีข้าวโพด  ครั้นกวาดยาก็ด้านลงไปวันสองวัน  แล้วขึ้นขอบตาทั้ง 2 ข้าง  ขาอ่อนทั้ง 2 ข้าง เป็นแผ่นสีเขียวสีแดงลงเป็นกำลัง  ครั้นลงหยุดเพิ่งขึ้นทั้งตัว  ตัวแดงดังผลตำลึงสุก   สมมุติว่าออกหัด แต่มิใช่หัดเพราะซางนี้ผุดขึ้นเป็นแผ่น  เท่าเม็ดสะบ้า เท่าใบพุทรา  รายขึ้นเสมอเนื้อ  ให้เขียวดำแดงก็ดีดังเอาหวายฟาดหรือตีด้วยมือ  ซางพวกนี้ร้ายนัก  มีพิษดังไข้รากสาด  ถ้าแพทย์ไม่ชำนาญ  รักษาเหมือนแกล้งฆ่ากุมารเสีย






ซางข้าวเปลือกตัวเมีย 

เป็นซางแทรกซางโควันพฤหัสบดี  ขึ้นทั่วตัวดังเมล็ดข้าวฟ่าง   ยอดแดง  สุดแล้วแตกอกดังโรคกลาก ทำพิษเจ็บคอ  กินข้าว/นมมิได้  ตาแห้ง  ท้องขึ้น  ซางจำพวกนี้เกิดมาแต่ไส้ใหญ่ก่อนแล้วขึ้นมาต้นลิ้น ภายหลังจึงออกทั้งตัว

ซางเพลิงตัวผู้    

อาการลักษณะปากแดง  ฝ่ามือ/เท้าแดง  ให้ลงท้องตกมูก  ตกโลหิต  ถ้าร้อนเป็นเวลา  ให้เชื่อมมึน แพทย์แก้ให้ดูที่ทวารหนัก  ถ้าเห็นแดงดังดอกสัตตบุษย์รอบทวารหนักเมื่อใด  อาการตัด  ถ้ารักษาไปปลายมือก็กระทำต่าง ๆ จนกุมารตาย

ลักษณะซางโจร  ซางเพลิง มีเภทดุจกัน    ซางโจร  ซางเพลิง ย่อมบังเกิดแก่กุมารวันเสาร์  วันอาทิตย์ บางทีกุมาเกิดวันอาทิตย์ ซางเพลิงเจ้าเรือน  ซางโจรแทรก    บางทีกุมารเกิดวันเสาร์  ซางโจรเจ้าเรือน ซางเพลิงแทรก   แม่ซางโจรตั้งขึ้นตรงลิ้นไก่  เข้าไปหาแม่ดังเม็ดข้าวเม่า  กระทำให้คอแห้ง  กินข้าว/นมมิได้  ให้ตาฟางก่อน  ตาสีเหลืองเหมือนควันเทียน  เชื่อมมึนตัวร้อน  วางยาชอบหายแต่ 4-5 เดือน   แล้วกลับมาใหม่ให้อยากพริก  อยากของคาวซึ่งชอบกับโรค  เมื่อกำเริบทำให้ลงท้อง  จะนับเวลามิได้ เป็นโลหิตเสมหะ  แตกออกมาแปรไปต่าง ๆ  ซูบผอม  ลิ้นแข็งเป็นหนามดังหนังกระเบน  ตาเป็นเกล็ดกระดี่ก่อน แล้วแดงลามออกไปกลายเป็นดังก้นหอยอยู่ประมาณ  4 - 5  วัน  แตกออก  กุมารถึงตาย






2. กล่าวด้วยซางเจ้าเรือน  7  จำพวก (ลักษณะซาง  7  วัน ) มีลักษณะอาการดังต่อไปนี้


กุมารเกิดวันอาทิตย์     ถ้าล้มไข้  เป็นไข้เพื่อกำเดา  กำเนิด  ซางเพลิงเจ้าเรือนแรก ขึ้นในสะดือก่อน แล้วกระจายไปภายหลัง  กลับประชุมพร้อมกันในสะดืออีก

กุมารเกิดวันจันทร์        ถ้าล้มไข้  เป็นไข้เพื่ออาโปธาตุ  กำเนิด  ซางน้ำเจ้าเรือนถ้าขึ้นที่ลิ้นกินข้าว/นมมิได้  มักให้ลงให้รากดังน้ำซาวข้าว  ดังไข่ร่วน


กุมารเกิดวันอังคาร       ถ้าล้มไข้  เป็นไข้เพื่อโลหิต  รักษายากนัก  กำเนิด ซางแดงเจ้าเรือน  แรกตั้งขึ้นรอบสะดือ  ให้ลงท้อง  มือ/เท้าเย็น ให้เชื่อมและหลังแข็งไป


กุมารเกิดวันพุธ      ล้มไข้  เป็นเพราะกินอาหารผิดสำแดง  ไข้เพื่ออาโปธาตุกำเนิด ซางสะกอเจ้าเรือน
กุมารเกิดวันพฤหัสบดี    ล้มไข้  เป็นไข้เพื่อกำเดา    ปวดศีรษะ  ตัวร้อน  มือ/เท้าเย็น   กำเนิด  ซางโคเจ้าเรือน   ถ้าขึ้นลิ้น ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง  ดูดนมมิได้  ให้ระวังใน  3  วัน  พ้นจากนั้นแล้ว  มิเป็นไร


กุมารเกิดวันศุกร์        ล้มไข้  เป็นไข้เพื่อลม  ท้องขึ้นในเวลาเย็น  กำเนิด ซางช้างเป็นเจ้าเรือน  ตั้งขึ้นแล้วมักกลายเป็นซางแดง  รักษายาก  เมื่อค่อยคลายกลายเป็นตานโจร


กุมารเกิดวันเสาร์      ล้มไข้  เป็นไข้เพื่อลม  รากให้ขัดหนัก ขัดเบา  กำเนิด ซางโจรเป็นเจ้าเรือน




 
3.   ซางกล่าวลักษณะ ซางจร  (เม็ดยอดซางจร)  ลักษณะเม็ดยอดซางจรมีดังต่อไปนี้

ซางกระดูก

ตั้งยอดได้  2  วัน  หลบเข้าท้อง  ทำให้ลงท้อง  มือ/เท้าเย็น แม่ซางกลับมาขึ้นต้นลิ้นยอดหนึ่ง  แข็งดังปลา  ถ้าแพทย์รู้และแทงหรือแกะอกเสียก่อน  จึงเอายาป้าย  หายแล

ซางกระแหนะ

ตั้งขึ้นมีสัณฐานยอดเล็ก  กลางยอดดำริม  ยอดแดง  ครั้นหลบ ลงท้อง  ทำให้ตกมูกเลือด  ซางพวกนี้ร้ายนัก

ซางปฐมกัลป์

บังเกิดเพื่อโลหิต  ให้ปากแดง  ครั้นลงท้องให้ลงดังน้ำชานหมากถ้าแพทย์จะรักษาให้เรียนกับคัมภีร์ปฐมจินดา  คัมภีร์อภัยสันตา  ถ้ามิเรียนเปรียบเสมือนคนตาบอดไต่สะพานมิได้  ยึดราวสะพานก็จะตกลงเสีย    ถ้าเที่ยวไปรักษาหวังอามิศบูชาแห่งท่านผิดชอบมิได้รู้จะเกิดโทษ

วางยาผิดครั้งหนึ่ง ดุจประหารคนไข้ด้วยหอก

วางยาผิดสองครั้ง ดุจประหารคนไข้ด้วยเพลิง

วางยาผิดสามครั้ง ดุจประหารคนไข้ด้วยสายอสุนีบาต





 
พระคัมภีร์ปฐมจินดา   ผูก  5 กล่าวด้วยเรื่อง  4  ประการ

1.  ว่าด้วยสิ้นกำหนด  ซางเจ้าเรือน  ซางจร

2.  ว่าด้วยกำลังไข้ซางเจ้าเรือน

3.  ว่าด้วยกิชาติประจำกายและตานโจร

4.  ว่าด้วยซางโจร  เกิดเพื่อพยาธิ  11  จำพวก


  1. ว่าด้วยสิ้นกำหนด  ซางเจ้าเรือน  ซางจร

กุมารกุมารี  เมื่อสิ้นกำหนดซางเจ้าเรือนและซางจรแล้ว  ตานโจรจะกระทำต่อไป
ซางเจ้าเรือนและซางจรมีกำหนดอายุดังนี้





2. ว่าด้วยกำลังไข้ของซางเจ้าเรือน

ซางเพลิง  แต่แรกล้มไข้มากำหนด  11  วัน  จึงถอย  แต่ถ้าไม่ถอยตาย

ซางน้ำ     แต่แรกล้มไข้มากำหนด  12  วัน  จึงถอย  แต่ถ้ามิถอย  ไข้นั้นหนัก

ซางแดง   แต่แรกล้มไข้มากำหนด  13  วัน  จึงถอย  แต่ถ้าไม่ถอยตาย

ซางสะกอ แต่แรกล้มไข้มากำหนด  14  วัน  จึงถอย  แต่ถ้ามิถอย  ไข้นั้นหนัก

ซางโค     แต่แรกล้มไข้มากำหนด  15  วัน  จึงถอย  แต่ถ้าไม่ถอยตาย

ซางช้าง    แต่แรกล้มไข้มากำหนด  16  วัน  จึงถอย  แต่ถ้าไม่ถอยตาย

ซางโจร    แต่แรกล้มไข้มากำหนด  17  วัน  จึงถอย  แต่ถ้าไม่ถอยตาย

 

3. ว่าด้วยกิมิชาตประจำกายและตานโจร

                  กุมารกุมารีอายุ  5-6  ขวบขึ้นไป  พ้นตานซางเจ้าเรือนและซางจรแล้ว  จึงบังเกิดเป็นลักษณะตานโจร    ด้วยการบริโภคอาหารต่างๆที่ไม่เคย  ทำให้บังเกิดโรคต่างๆ  บังเกิดหมู่กิมิชาต  80  จำพวก  และหมู่หนอน อาศัยกินอยู่ภายในกายกุมารกุมารี แลสัตว์ทั้งหลายทุกตัวสัตว์มิได้เว้นครั้นว่ากิมิชาติทั้งหลายเหล่านี้เจริญขึ้นเมื่อใดแล้ว ก็ย่อมกระทำเบียดเบียนสัตว์แลมนุษย์ให้บังเกิดโรคแปรปรวนเป็นประการต่าง ๆ


 

4. ว่าด้วยตานโจรเกิดเพื่อพยาธิ  11  จำพวก

ลักษณะตานโจร  ไส้พองท้องใหญ่ แลท้องรุ้งพุงมาร ให้บวมในที่แห่งใด ๆ ก็ดี ให้บวมทั้งตัวก็ดี เกิดเพื่อพยาธิ  11  จำพวก บังเกิดแต่กุมารกุมารี
 
1. ปุระธาตุบท 7. คงสะท้านไฟ
2. สุจิมุกขกาลหิระ 8. พรมกิจ
3. ปัตชิวหา (ปัตฉันตะธาตุ)           9. อมุลธาตุ
4. สันตาธาตุ                               10. มุสกายธาตุ
5. อุทราธาตุ                               11. รัตนปัลลธาตุ
6. พลพะหะ
                           
11 จำพวกนี้ คือ ตานโจร



พระคัมภีร์ปฐมจินดา   ผูก  6 กล่าวด้วยเรื่อง  6  ประการ

1.  ลักษณะตานโจรว่าด้วยธาตุกำเนิดและธาตุบรรจบ

2.  ว่าด้วยธาตุพิการและธาตุแตก

3.  กล่าวด้วยธาตุอติสาร

4.  กล่าวด้วยอุจจาระและปัสสาวะแห่งกุมาร

5.  กล่าวถึงลักษณะตานโจร  4  จำพวก

6.  ผนวกตอนท้าย  4  ประการ

 

1. ลักษณะตานโจรว่าด้วยธาตุกำเนิดและธาตุบรรจบ

ลักษณะตานโจร  7 จำพวก  เกิดขึ้นด้วยธาตุทั้ง  4 นั้น  เมื่อแรกตั้งครรภ์ปฏิสนธินั้น  สุดแต่มารดาตั้งครรภ์ในฤดูอันใด  ธาตุอันนั้น  ก็เอาธาตุนั้นเป็นที่ตั้งแห่งกุมารและกุมารี ธาตุกำเนิดติดตัวมาตราบเท่าคลอดจากครรภ์มารดาจนได้อายุ ๕ ขวบ ๖ ขวบและเมื่อพ้นกำหนดตานซางแล้วจึงบังเกิดตานโจรขึ้นต่าง ๆ ถ้าวางยาขนานใดๆมิฟัง ท่านให้ดูในพระคัมภีร์ธาตุบรรจบ  ให้แก้ตามธาตุกำเนิดนั้นด้วย




เมื่อกุมารกุมารีอายุ  5-6  ขวบ  สิ้นกำหนดแห่งตานซางแล้ว  จะบังเกิดตานโจรขึ้นต่าง ๆ ถ้าแพทย์วางยาแล้วมิฟัง  ให้แก้ตามกำหนดฤดูด้วยธาตุ

2. กล่าวด้วยธาตุพิการและธาตุแตก

 2.1. เตโชธาตุพิการ  

          อาการท้องขึ้นเฟ้อ แล้วให้ผะอืดผะอม ขัดอกขัดใจ   หายใจขัด มือ/เท้าบวม  เป็นกำลัง  อาการนี้  ถ้าแก้มิฟัง  กำหนด  8  วัน  ตาย

 
2.2. วาโยธาตุพิการ  

          อาการหูตึงเป็นน้ำหนวก ไหลเหม็นเน่า  ตาฟาง  เอามือกดหัวตาไม่มีแสง  เมื่อยมือ/เท้า/ขาทั้ง 2 ข้าง   เป็นตะคริวและจะโปง  เมื่อยกระดูกสันหลังและฟกขึ้น  ไม่รู้ก็ว่าเป็นฝีเอ็น   อาเจียน  บางทีอาเจียนลมเปล่า เมื่อยังมิได้บริโภคอาหาร    มักเป็นลม ท้องขึ้นจุกราก เป็นต่าง ๆ เพราะวาโยธาตุพิการ
 
2.3. อาโปธาตุพิการ    

          อาการลงท้อง  จุกอก มือ/เท้าเย็นให้ไส้เป็นขดโค้ง  เป็นลูกอยู่ในท้อง  บางทีขัดอุจจาระ/ปัสสาวะ  ขัดหัวเหน่า  บางทีตกมูกเลือด  ปวดมวน  เสียดราวข้าง  หญิงเสียดซ้าย  ชายเสียดขวา  อาการอย่างนี้รักษายากนัก

2.4. ปถวีธาตุพิการ      

           อาการเจ็บท้องเป็นกำลัง  กินอาหารมิได้  ท้องขึ้น  ท้องเฟ้อ ดุจ ดังผู้ใหญ่  เป็นริดสีดวง  ให้ผอมเหลือง  มักเสียดสันหลัง  ให้แปรไปเป็นองคสูตร  ให้ตกบุพโพโลหิตทางทวารหนัก/เบา   แก้มิฟัง ตายภายใน  5  วัน


2.5. ลักษณะตานโจร
   
          อันลักษณะตานโจรจะเกิดด้วยสิ่งใดๆ ก็ดี ก็บังเกิดเพราะซางเจ้าเรือนก่อน  เพราะแพทย์รักษาซางเจ้าเรือนมิหายขาด  จนอายุล่วงพ้นซางเจ้าเรือนมา  จึงกลายแปรไปเป็นตานโจร ดังกล่าวแล้ว  และถ้ารักษาตานโจรนั้นมิหายขาดจนอายุ  30-40  ปี ก็จะกลายเป็นริดสีดวงต่าง ๆ ตามลักษณะแม่ซางเจ้าเรือนและซางจร

         ในที่นี้จะกล่าวแต่ตานโจร  คือวันอาทิตย์    ทรางเพลิง(ไฟ)  เป็นเจ้าเรือน  บางทีซางกระแหนะจรมา  บางทีซางกระตังจรมา  จะว่าหละอุไทยกาลประจำซางเพลิง  ก็ไม่อยู่แต่เท่านั้น  บางทีหละชื่อนิลกาฬแทรก  บางทีหละชื่อแสงเพลิงแทรก  บางทีหละนิลเพลิงจรมาแทรกจะว่าข้างละองพระบาทชื่อเปลวไฟฟ้าประจำซางเพลิงนั้นเล่า  ก็ไม่อยู่แต่เท่านั้น  บางทีละอองแก้วมรกตแทรก  บางทีละอองเพลิงแทรก  บางทีละอองทับทิมแทรก  และโรคนั้นสำแดงดังนี้    เหตุดังนี้  จึงสมมุติ เรียกว่าตานโจร  เหตุว่าซางนี้ลักเภทต่าง ๆ  มากกว่ามากพ้นที่จะพรรณาได้  กล่าวมาแต่ซางพวกเดียว  พึงรู้เอาเถิดว่าเหมือนกันทุกซาง  ทั้ง  7  จำพวกนั้น



 
3. กล่าวด้วยตานโจร  อันเกิดเพื่อธาตุอติสาร


    แพทย์พึงรู้ว่า  อันความตายแห่งทารก  มี  3  ประการ  (ดี  ลม  เสมหะ) ประดุจดังโทษอติสาร (ตรีโทษ) สำแดงความตายแก่ทารกทั้งหลาย คือ มูตรและคูถพิการ ต่าง ๆ ก็พึงมีแก่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้


     โทษแห่งอสุจิมี  11  ประการ  ประการหนึ่งแยกออกได้เป็น  3  จึงเป็น  33  ด้วยกัน คือ

1.  มูลธาตุ   2.  ปัจฉันธาตุ 3.  รัตนธาตุ  4.  ปัสสธาตุ  5.  มุสกายธาตุ 6.  กาฬธาตุ  7.  ปถวีธาตุ  8.  อาโปธาตุ  9.  วาโยธาตุ  10.  เตโชธาตุ  11.อากาศธาตุ   เรียกว่า ธาตุบรรจบ   ด้วยประการ ดังนี้


  มูลธาตุ (อมูลธาตุ หรือ อมุสายธาตุ)   มีโทษ  3 ประการ

          ว่าด้วยเตโชธาตุ  ปรัศนามัคคี  (ไฟเผาอาหารให้แหลก)  สำหรับเผาอาหารให้ย่อย  ถ้าออกจากตัว  ทำให้ผะอืดผะอมลงไปจะนับเวลามิได้  ครั้นสิ้นอาหารแล้วให้ลงดังน้ำล้างเนื้อ  เหม็นคาว  ดังตะพาบน้ำแล้วให้จุกเสียด  กระหายน้ำเป็นกำลัง  คอแห้งถึงทรวงอก  ปากแห้ง  ฟันแห้ง
   
 
          ผู้ใดจะสิ้นอายุ เตโชธาตุก็ออกจากตัว  อุปมาดังหุงข้าวใส่ไฟกล้าเหลือกำลัง  ไฟร้อนแรงทำให้น้ำเดือดพุ่งขึ้นล้นลงดับไฟเสียเอง  อันว่า  เหงื่อแห่งอาหารก็แห้งไปด้วยเหตุดังนี้  จึงให้คอแห้ง  ฟัน/ปากแห้ง   ถ้ามีอาการดังนี้เอามือล้วงดูคอ  ถ้าในคอเย็นเฉียบ  เป็นอาการตัดจะตายในวันนั้น   เพราะธาตุไฟย่อมให้บวมทั้งตัว  ให้ลงเป็นสีเขียว สีดำ  กำหนดไว้ 3  วัน ตาย

ปฉันธาตุ     ลงเป็นน้ำชานหมากและน้ำแตงโม  กำหนดไว้  7  วัน  ตาย





ลมโกฐฐาสยาวตา          คือ  ลมพัดอยู่ในลำไส้  ถ้าออกจากตัวกระทำให้เป็นต่าง ๆ  ลมธาตุพวกนี้จะให้ลงนับเวลามิได้  จะปิดได้ ก็มิได้  ครั้นลงไปพักก็มิได้ ครั้นลงไปก็ให้จุกแดกแน่นอยู่ในลำคอ  กินข้าว/นมมิได้  เพราะรากอยู่รุนแรง  และน้ำลายเหนียวด้วย  ถ้าน้ำเขฬะเหนียวเข้าเมื่อใดจะตายเป็นแน่นอน
 

  ปถวีธาตุออกจากตัว  ธาตุดินออกจากตัวนั้น มี  4  ประการ  คือ

        1. เอ็น    2. อาหารใหม่  อาหารเก่า     3.  กระดูก     4. เนื้อ    


         บุคคลจะเป็นไข้สักเท่าใดก็มีอาหารเก่าจะสิ้นไปนั้นหามิได้  ครั้นสิ้นอายุผู้นั้นจะตาย  ก็ให้ลงไปนับเวลามิได้  จนสิ้นอาหารเก่าอาหารใหม่แล้ว  อุจจาระวิปริตเป็นไปต่างๆ  บางทีก็ให้เป็นเสมหะโลหิตเน่า บางทีเป็นมูลหนู  เพราะโรคกับยามิให้ซึมซาบไปได้    ลมและเสมหะจึงกลัดเข้าเป็นมูลหนูและเสมหะหุ้มห่อออกมาบ้าง   บางทีให้อุจจาระเขียว ดังใบไม้ออกมาเป็นเพราะดีล้นออกจากเบ้า  ในเมื่อสิ้นอาหารเก่าในกระเพาะอาหารแล้ว  ก็ไหลออกมา ดังน้ำขมิ้นสด  ดังสีใบไม้  สมมุติว่าเป็นมูลเทา  เป็นอาการตัดตายแน่นอน

 
         สาเหตุที่ทำให้ดีล้นออกจากเบ้า     นั้นคือ  เพลิงธาตุแตกกำเริบก็ดี สรรพพิษใด ๆ ก็ดี  อันร้อนกล้าพ้นประมาณนักดีก็ล้นจากเบ้า  มีอุปมาดังหุงข้าว ใส่ไฟกล้านักน้ำในหม้อก็เดือดล้นลงมา ไฟดับเอง ตนทำลายตนเอง  ผู้นั้นก็ตาย
                
        ลักษณะอาการดีล้นออกจากเบ้า        ลงเหลืองดังน้ำขมิ้นสดติดออกมา  หน้าเหลือง  ตาเหลือง ผอมเหลือง  ไม่รู้ว่ากาฬสิงคลี  ให้สังเกตที่  ลงกับคนไข้หาสติมิได้  บ่นเพ้อ  เจรจาด้วยผี  สมมุติว่ากระสือเข้าสิงอยู่   รักษาให้ดีจึงรอด    

ถ้าดีแตกแล้วมิหายเลย        รักษาไม่หาย  ตายแน่นอน




ดีจะแตกจะล้นจากเบ้านั้น เพราะเหตุ  4  ประการ  ดังนี้

1. กาฬผุดขึ้นในดี

2. เป็นไข้เพื่อพิษต่าง ๆ

3. เป็นไข้เพื่อซาง

4. เป็นเหตุด้วยถูกทุบถองโบยตีและตกจากที่สูง

............รวม  4 ประการด้วยกัน  ตับและดีจึงแตก............................






  เสมหะสมุฏฐาน  คือ  อาโป  มี 12  ประการ          

สงเคราะห์เอาแต่เสมหะ  มีโทษ  12  ประการ  และยกเอาแต่  3  ประการ ดังนี้  มากล่าวคือ

1.  เสมหะอยู่ในลำคอ  (ศอเสมหะ)

2.  เสมหะอยู่ในทรวงอก  (อุระเสมหะ)

3.  เสมหะอยู่ในทวารหนัก  (คูถเสมหะ)


        1. เสมหะอยู่ในลำคอ (ศอเสมหะ)  นั้น  ย่อมถอยขึ้นถอยลง  ต่อเมื่อใดป่วยให้รากให้ก็ดี  เสมหะนั้นจึงออก  เสมหะตั้งอยู่ที่คอหนาประมาณ  7  นิ้ว  เต็มเป็นแผ่นอยู่   ถ้าปกติไม่ป่วยไข้  เมื่อรับประทานอาหารสิ่งใด ๆ ลงไป   เสมหะก็เบิกออก   อาหารจึงเคลื่อนลงไปได้  ครั้นอาหารเลื่อนลงไปแล้วเสมหะจึงกลัดเข้าดังเก่าอุปมาดังแหนลอยอยู่เหนือน้ำ  ผู้เอากระเบื้องทิ้งลงไป  แหนนั้นจะแหวกออก  แล้วกลับเข้าดุจดังเก่า ดังนี้

        2. เสมหะอยู่ในทรวงอก (อุระเสมหะ)   ต่อเมื่อใดเป็นไข้เพื่อเตโชและวาโยกล้ากว่าอาโป  พันเสมหะข้นเข้าได้แล้ว  ก็ตั้งแข็งลงไปตามยอดอก  พ้นลงไป  2-3-4-5  นิ้วก็ดี  ทำให้จับเป็นเวลาดุจเป็นป้างและม้าม   ทำให้สีหน้าและตัวเหลือง   อุจจาระ/ปัสสาวะเหลืองดุจไข้กาฬสิงคลี  แม้มิฟังกลายเป็นมานกระษัย  มักให้ลงเป็นมูกเลือดและเสมหะเน่าออกมา  แล้วให้ท้องใหญ่ดุจท้องมาน  รักษายาก วางยาถูกได้บ้างเสียบ้าง

        3. เสมหะอยู่ในทวารหนัก (คูถเสมหะ)  นั้น คือโลหิตและน้ำเหลือง   ต่อเมื่อใดไข้ลง  โลหิตและน้ำเหลืองจึงตกออกมาจากทวารหนัก  ดุจน้ำล้างเนื้อและน้ำชานหมาก  เหม็นดุจกลิ่นศพเน่า โซม และปวดมวน  เป็นลมในท้องขึ้นปะทะหน้าอก  ให้แน่น อาเจียนลมเปล่า  ตัดอาหาร  เหม็นข้าว  ลุกขึ้นให้ลมจับตามืด  ให้ชัก  เท้ากำมือกำ  ตาช้อนขึ้น  อาการพร้อมกันดังนี้  ตาย


ไข้อติสาร มี  11 ประการ  แต่แบ่งออกเป็น  2  ฐาน  ดังนี้

1. ปัจจุบันกรรมอติสาร  6  ประการ  พอรักษาได้จะไม่กล่าวที่นี้

2. โบราณกรรมอติสาร   (ดูในคัมภีร์อติสาร)



4. กล่าวด้วยอุจจาระและปัสสาวะแห่งกุมารกุมารี

        กุมารกุมารีมีอายุแต่  3  เดือนขึ้นไปจนถึง  7  ขวบ  จะเป็นวันใด  ซางใดก็ตาม  ให้สังเกตเอาอุจจาระเป็นประธาน  ถ้าอุจจาระนั้นพิการอย่างไร  จะเป็นโทษใด ๆ ก็ดี สังเกตดังนี้


1.  อุจจาระเหลืองไม่คุมกันเข้าได้    

     ลักษณะนี้กุมารกุมารีนั้นจะเป็นป้างเป็นม้าม เป็นดานเสมหะก็ว่า   ถ้าเห็นแต่อุจจาระมิได้เห็นตัวคนไข้  ให้ทายว่า  กุมารกุมารีนั้นเป็นไข้ตัวร้อน จับเป็นเวลา  นานไปจะให้ชักเท้ากำมือกำ  ตาช้อนดูสูง  ถึงกำหนด 3 เดือน  รักษายาก

2.  อุจจาระขาวดังน้ำข้าวเช็ด      

      คือ  พยาธิไส้เดือนกินตามลำไส้ใหญ่ นั้นประการหนึ่ง  คือ ไส้เดือนกินอยู่ตามลำไส้  มีอยู่ทุกตัวคน  ถึงไม่เจ็บไม่ไข้อันใด  ก็มีอยู่จนสิ้นอายุของผู้นั้น




ลักษณะตานจร  4  จำพวก  ดังนี้

1.  ตานจร ชื่อ  กะระ 

     มีโทษให้ลงท้อง  อุจจาระขาวดังดินสอพอง วางยาถูกหยุดไป  ให้ผื่นขึ้นทั้งตัวดังยอดผด  ตาฟาง  ตาเป็นเกล็ดกระดี่  มักชอบกินกะปิ  กินเกลือไส้เดือนพวกนี้บังเกิดเป็นอุปาติกะอยู่  ครู่ยามเดียวก็เต็มไส้  ได้ร้อยตัวพันตัว ทำให้ไส้พองท้องใหญ่ขึ้น  คับอกคับใจ  อึดอัดอยู่ประมาณ  7  วัน  ตัวแก่ขึ้นคลานออกมาทางทวารหนัก  ทางคอก็มี  กระทำให้อาเจียน จุกเสียดขบเอาท้องดังจะขาดใจตาย  ร้อนกระสับกระส่าย  หน้าซีดเผือด  หาเลือดมิได้  อยู่ประมาณ  8  วันก็ตาย  ทั้งวันจับไข้จนถึงวันตายเป็น  15  วัน    แก้มิได้  เป็นอาการตัด  รักษามิรอด


2.   ตานจร ชื่อ  สันตุกมิต

      โทษเกิดเพราะไข้พิฆาต  เมื่อรู้เดิน  รู้วิ่ง  ล้มลงถูกไม้ ถูกหินก็ดี  หน้า จมูก หน้าอก  ลงกระทบฟกช้ำแห่งใด ๆ ก็ดี  ย่อมเป็นไข้พิฆาตสิ้น  กระทำเป็นไข้จับ  ไข้ตัวร้อน  มือ/เท้าเย็น  ให้บิดตัวบ้าง  เป็นเม็ดเป็นยอดขึ้นทั้งตัว  สมมุติว่าออกหัด  ครั้นจมเข้าไปก็ทำให้ลงท้อง  เป็นมูกเลือดเป็นเวลามิได้  ให้ปวดมวน  กระหายน้ำ มึนหัว  ไอ  กินข้าว/นมมิได้  ให้แก้จงดี  จะได้  1  ส่วน เสีย  2  ส่วน
 
3.   ตานจร ชื่อ  สาระพะกะระ  

       ให้ขนลุกทุกเส้น  เป็นยอดขึ้นในหู ในจมูก  ครั้นแตกเป็นโลหิตไหลไป  จึงให้บวมแตกออกเป็นบุพโพโลหิตเหม็นเน่า  ย่อมเป็นชั่วนาตาปี  หายแล้วเป็นอีก  ถ้าขึ้นจมูกแล้วร้ายนัก  เพราะขึ้นสมองตกลงในท้อง  ทำให้ลงดังหนองฝีและมันสมอง  กระทำให้ตัดอาหาร  เมื่อตาย  โลหิตออกทางหู  ทางจมูก  ทวารหนัก  ทวารเบา  เป็นอาการตัด
 
4.   ตานจร ชื่อ  พรหมกิจ  

      เกิดรูในสะดือ  มีเภทดังฝีอัคนีสันขึ้น  3  วัน ก็ให้ลงเป็นโลหิตสด ๆ ออกมา  เพราะมันกลับเข้าไป  ทำตับดี  หัวใจ  และลำไส้  แล้วให้กลุ้มอกกลุ้มใจหาสติมิได้   ให้ร้อนและหนาว  เภทที่ลงก็เป็นเสมหะโลหิตเน่า  ถ้าอาการเป็นดังนี้  แก้ได้แต่เพียง  15  วันขึ้นไปจนเดือนหนึ่ง  แล้วเมื่อใดเป็นอาการตัดตาย  เมื่อจะตายโลหิตออกทุกเส้นขน  ถ้ามิตาย  ตาจะแตกทั้ง  2  ข้าง  เพราะต้อก้อนหอยมาขึ้นที่ตาทั้ง  2  ข้าง
 
 



ภาคผนวกท้ายบท

1. พรหม  6  องค์  ลงมากินง้วนดิน
2. ต้นไม้ประจำทวีป  เป็นพญาต้นไม้
3. พวกผกาพรหม  อาราธนา  พรหมมาจุติโลกมนุษย์
4. พรของท้าวผกาพรหม  4  ประการ

 ไม่ขอกล่าว


ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น