คัมภีร์เวชศึ่กษา


โดย  ยส  พฤกษเวช

เวชศึกษา  กิจของหมอ

หมอยา     คือผู้ที่ชำนาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ   ผู้ที่เข้าใจในวิธีนวดก็เรียกว่า หมอนวด

หมอ        มาจากคำว่า  เวชะ คนมีความรู้ แผลงมาเป็น แพทย์ แปลออกเป็นคำไทยว่า  หมอ

          หมอที่จะเป็นผู้รู้ชำนาญในการรักษาโรคได้นั้น จะต้องรู้กิจ  ๔  ประการ ในเบื้องต้นเสียก่อน 
แบ่งออกเป็นหมวด ดังนี้ คือ



กิจ  ๔  ประการ

หมวดที่  ๑  รู้ที่ตั้งที่แรกเกิดโรค

                หมวดที่  ๒  รู้จักชื่อโรค

                หมวดที่  ๓  รู้จักยาสำหรับแก้โรค

                หมวดที่  ๔  รู้ว่ายาอย่างใดจะควรแก้โรคชนิดใด









หมวดที่ ๑     ที่ตั้งแรกเกิดของโรค


ที่ตั้งที่แรกเกิดของโรคนั้น  ได้แก่  สมุฏฐาน  ๔  ประการ คือ

๑.  ธาตุสมุฏฐาน  

                ๒.  อุตุสมุฏฐาน  

                ๓.  อายุสมุฏฐาน  

                ๔.  กาลสมุฏฐาน

สมุฏฐาน    แปลว่า  ที่ตั้งที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บจะบังเกิดขึ้น  ก็เพราะสมุฏฐานเป็นที่ตั้ง


๑. ธาตุสมุฏฐาน

ธาตุสมุฏฐาน  แปลว่า  ที่ตั้งของธาตุ  แบ่งธาตุออกเป็น  ๔  กอง  คือ


         ๑.  ปัถวีธาตุสมุฏฐาน ดินเป็นที่ตั้ง แจกออก  ๒๐  อย่าง

         ๒.  อาโปธาตุสมุฏฐาน น้ำเป็นที่ตั้ง แจกออก  ๑๒  อย่าง

         ๓.  วาโยธาตุสมุฏฐาน ลมเป็นที่ตั้ง แจกออก   ๖  อย่าง

         ๔.  เตโชธาตุสมุฏฐาน ไฟเป็นที่ตั้ง แจกออก   ๔  อย่าง


               จึงรวมเป็นธาตุสมุฏฐาน  ๔๒  อย่าง  หรือจะเรียกธาตุสมุฏฐานทั้ง ๔ ว่า ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ ก็ได้







ปัถวีธาตุ  ๒๐  คือ





อาโปธาตุ  ๑๒  คือ






วาโยธาตุ  ๖  คือ






เตโชธาตุ  ๔  คือ






สมุฏฐานสาม

           อนึ่งธาตุ  ๔๒  ประการ ที่เป็นหัวหน้ามักจะวิการบ่อย ๆ ไม่ค่อยจะเว้นตัวตน มี  ๓  ประการ (ย่อธาตุ ๔๒  ประการเป็นสมุฏฐานธาตุ  ๓  กอง)  ดังนี้

๑.  ปิตตสมุฏฐานาอาพาธา อาพาธด้วยดี

๒.  เสมหสมุฏฐานาอาพาธา อาพาธด้วยเสลด

๓.  วาตสมุฏฐานาอาพาธา อาพาธด้วยลม

เมื่อสมุฏฐานทั้ง  ๓  ประชุมกันเข้าเรียกว่า  สันนิปาติกาอาพาธา  อาพาธด้วยโทษประชุมกัน ชื่อว่า  สันนิบาต

สมุฏฐานทั้ง ๓  กองนี้  ถ้าฤดูผันแปรวิปริตไปเมื่อใด  สมุฏฐานทั้ง  ๓  กอง นี้ก็วิการไปเมื่อนั้น






๒. อุตุสมุฏฐาน

            อุตุสมุฏฐาน     แปลว่า   ฤดูเป็นที่ตั้ง ฤดูแปรไปย่อมให้เกิดไข้เจ็บได้ เรียกว่า  อุตุปริณามชาอาพาธา ไข้เจ็บเพราะฤดูแปรไป  

ฤดู ๓

คิมหันตฤดู ฤดูร้อน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘
สมุฏฐานเตโช พิกัดสันตัปปัคคี   ธาตุของร่างกายได้กระทบความร้อนเป็นธรรมดา มีอากาศฝนอากาศหนาวเจือมา

วัสสานะฤดู ฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
สมุฏฐานวาโย พิกัดกุจฉิสยาวาตา ธาตุของมนุษย์ได้กระทบความเย็นเป็นธรรมดา มีอากาศร้อน อากาศหนาวเจือมา

เหมันตฤดู    ฤดูหนาว ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔
สมุฏฐานอาโป พิกัดเสมหะโลหิต  ธาตุของมนุษย์ได้กระทบความหนาวเป็นธรรมดา มีอากาศร้อนอากาศฝนเจือมา



ฤดู ๔

ฤดูที่ ๑ คิมหันตฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗     สมุฏฐานเตโช

ฤดูที่ ๒ วสันตฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐    สมุฏฐานวาโย

ฤดูที่ ๓ วัสสานะฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๐ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑    สมุฏฐานอาโป

ฤดูที่ ๔ เหมันตฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือนอ้าย ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔    สมุฏฐานปัถวี





ฤดู ๖

ฤดูที่ ๑ คิมหันตฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖  ถ้าเป็นไข้ เป็นเพื่อเตโช ด้วยดี และกำเดา

ฤดูที่ ๒ วสันตฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๖ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘  ถ้าเป็นไข้ เป็นเพื่อเตโช  วาโย กำเดาเจือกัน

ฤดูที่ ๓ วัสสานะฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐  ถ้าเป็นไข้ เป็นเพื่อวาโย และเสมหะ

ฤดูที่ ๔ สะระทะฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๐ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒  ถ้าเป็นไข้ เป็นเพื่อวาโย  เสมหะ และมูตร

ฤดูที่ ๕ เหมันตฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนยี่  ถ้าเป็นไข้ เป็นเพื่อเสมหะ  กำเดา และโลหิต

ฤดูที่ ๖ ศิศิระฤดู นับแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือนยี่ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔  ถ้าเป็นไข้ เพราะธาตุดิน  เพื่อเลือดลมกำเดา เจือเสมหะ





๓. อายุสมุฏฐาน

อายุเป็นที่ตั้ง    ท่านจัดไว้  ๓  อย่าง คือ  ปฐมวัย   มัชฌิมวัย และ ปัจฉิมวัย

๑.  ปฐมวัย

     นับตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ  ๑๖  ปี  สมุฏฐานอาโป  พิกัดเสมหะและโลหิตระคนกัน
ท่านแบ่งเป็น ๒  ตอน คือ

ระยะแรก     แรกเกิดจนถึงอายุ ๘ ขวบ  สมุฏฐานอาโป พิกัดเสมหะเป็นเจ้าเรือน โลหิตแทรก

ระยะหลัง     อายุ ๘ ขวบถึง ๑๖ ขวบ   สมุฏฐานอาโป พิกัดโลหิตเป็นเจ้าเรือน เสมหะยังเจืออยู่ (ระคน)

๒.  มัชฌิมวัย

     นับตั้งแต่อายุพ้น ๑๖ ปี ถึง ๓๒ ปี สมุฏฐานอาโป พิกัดโลหิต ๒ ส่วน  สมุฏฐานวาโย ๑ ส่วน ระคนกัน

๓.  ปัจฉิมวัย
  
      ระยะแรก    อายุพ้น  ๓๒ ปี  ถึง  ๖๔ ปี    สมุฏฐานวาโย

      ระยะหลัง    เมื่ออายุพ้น  ๖๔ ปี  ถึงอายุขัย  สมุฏฐานวาโยเป็นเจ้าเรือน  อาโปแทรก  พิกัดเสมหะกับเหงื่อ








กาลสมุฏฐาน

เวลาเป็นที่ตั้ง  ท่านแบ่งไว้เป็น  กลางวัน ๔ ยาม  และ  กลางคืน ๔ ยาม  ดังนี้



ประเทศสมุฏฐาน

ประเทศสมุฏฐาน   ประเทศเป็นที่ตั้งที่เกิดของโรค มี  ๔  ประการ  คือ

๑. คนเกิดในประเทศที่สูง เช่น ชาวเขา   เรียกว่าประเทศร้อน  ที่ตั้งแห่งโรคของคนประเทศนั้น  เป็นสมุฏฐานเตโช

๒. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำกรวดทราย    เรียกว่าประเทศอุ่น   ที่ตั้งแห่งโรคของคนประเทศนั้น  เป็นสมุฏฐานอาโป ดี โลหิต

๓. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำฝนเปือกตม     เรียกว่าประเทศเย็น  ที่ตั้งแห่งโรคของคนประเทศนั้น  เป็นสมุฏฐานวาโย

๔. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำเค็มเปือกตม    เรียกว่าประเทศหนาว  ที่ตั้งแห่งโรคของคนประเทศนั้น  เป็นสมุฏฐานปัถวี






          บรรดาโรคภัยทั้งหลาย ที่บังเกิดแก่บุคคลก็ย่อมบังเกิด ณ ที่ทั่วไป ตามอวัยวะร่างกายและที่จำแนกไว้ตามธาตุ ทั้ง ๔   มี ๔๒ ประการ    ถ้าโรคเกิดขึ้นแก่ร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใด ท่านเรียกว่าส่วนนั้นพิการบอกสมุฏฐานด้วย คือ ชี้ที่เกิดของโรค   กล่าวคือ ถ้าธาตุใดใน ๔๒ ประการ   เป็นที่เกิดโรค ก็ให้พิจารณาดูว่าสมุฏฐานใด ( ปิตตะ วาตะ เสมหะ ) กระทำโทษแก่ธาตุนั้น ๆ   แล้วพิจารณาดูสมุฏฐาน ของฤดู    สมุฏฐานของอายุ   สมุฏฐานของกาลเวลาที่เริ่มเจ็บไข้   สมุฏฐานของที่อยู่อาศัยสิ่งแวดล้อมที่คนไข้อยู่อาศัย   และให้พิจารณาดูสมุกฐานของมูลแห่งเหตุที่ทำให้เกิดโรคหรือพฤติกรรมที่ก่อโรคประกอบด้วย  การที่แพทย์จะวางยาก็ต้องวางให้ถูกต้องตามธาตุสมุฏฐานนั้น ๆ ไม่ใช่วางยาตามชื่อโรค เพราะชื่อโรคนั้น ๆ เป็นชื่อที่แพทย์สมมุติเรียกกันขึ้น   และเรียกกันต่อ ๆ มา   ถ้าจะรักษาให้ถูกต้องแม่นยำแล้ว   ต้องตรวจตราพิจารณาตามธาตุสมุฏฐานให้แม่นมั่น


ธาตุสมุฏฐานพิการ














   

มูลแห่งเหตุของโรค

มูลของโรค  ๘  ประการ

ความประพฤติของมนุษย์ที่จะทำให้โรคบังเกิดขึ้น  จัดไว้  ๘  ประการ (ใช้เป็นหลักทั่วไป) คือ













หมวดที่ ๒

รู้จักชื่อโรค

การเรียกชื่อโรค


๑. เรียกตามสมุฏฐานธาตุ

     การเรียกชื่อของโรคให้ตรงกับความเป็นจริงแล้ว  ต้องเรียกชื่อของธาตุ  ๔๒  ประการนั้นมาเป็นชื่อของโรค  เช่น   โรคเกสาวิการ  โรคทันตาวิการ  โรคเสมหะวิการ  โรคโลหิตวิการ   ดังนี้   เพราะคำที่ว่าโรคนั้นก็คือ ธาตุวิการ (วิการ=พิการ)


๒.  เรียกตามสมุฎฐานเบญจอินทรีย์

     ถ้าจะเรียกชื่อของโรค  ให้รวบรัดย่นย่อชื่อลงแต่น้อยแล้ว  ก็คงมีชื่ออยู่เพียง  ๕  ชื่อ  ตามฐานที่ตั้งของโรคในเบญจอินทรีย์  คือ

จักขุโรโค คือ  โรคซึ่งเป็นขึ้นที่ตา  เช่น  ตาแดง  ตาแฉะ  เป็นตาริดสีดวง  เป็นต้น

โสตโรโค คือ  โรคซึ่งเป็นขึ้นที่หู  เช่น  หูหนวก  เป็นหูตึง  เป็นฝีในหู

ฆานโรโค คือ  โรคซึ่งเป็นขึ้นที่จมูก  เช่น  ริดสีดวงจมูก

ชิวหาโรโค คือ  โรคซึ่งเป็นขึ้นที่ลิ้น  เช่น  ลิ้นแตก  ลิ้นเปื่อย

กายโรโค คือ  เป็นโรคขึ้นที่ตัว  แบ่งออกเป็น  ๒  คือ  พหิทธโรโค  โรคที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย  และอันตโรโค  โรคที่เกิดขึ้นที่ผิวกาย

พหิทธโรโค  คือ  โรคที่เกิดขึ้นภายนอกกาย  เช่น  เกลื้อน  กลาก  มะเร็ง  คุดทะราด   เป็นเรื้อน  แผลต่าง ๆ

อันตโรโค    คือ  โรคที่เกิดขึ้นภายในกาย  เช่น  เป็นไข้  เป็นลม  จุกเสียด  แน่นเฟ้อ  เป็นฝีในท้อง

๓.  เรียกตามหมอสมมุติขึ้น

     โดยเรียกจากอาการและลักษณะความเจ็บป่วยที่นิยมเรียกสืบกันมา  เช่น  ไข้ตักสิลา  กระษัยท้น  เป็นต้น



หมวดที่ ๓

รู้จักยาสำหรับแก้โรค

หมอจะต้องรู้จักสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่จะนำมาปรุงเป็นยารักษาโรค  การที่จะรู้จักยานั้น  ต้องรู้จัก  ๔  ประการ

๑. รู้จักตัวยา

๒. รู้จักสรรพคุณยา

๓. รู้จักเครื่องยาที่มีชื่อต่างกันรวมเรียกเป็นชื่อเดียว

๔. รู้จักการปรุงยาที่ประสมใช้ตามวิธีต่างๆ

 (ดูตามหลักเภสัช  ๔  ประการ  ในเล่มนี้ไม่ได้นำมากล่าวไว้)




หมวดที่ ๔

รู้ว่ายาอย่างใดจะควรแก้โรคชนิดใด


ในหมวดนี้เป็นหมวดที่หมอจะต้องนำเอาความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามาตลอดแต่ต้นจนจบ  นำมาใช้ในการค้นหาสมุฏฐานและมูลเหตุของโรค  โดยการตรวจไข้  (ซักประวัติและตรวจโรค)  สรุปผลการวินิจฉัยออกมาแล้ว  จึงพิจารณาหาทางเยียวยาแก้ไขต่อไป ก่อนจะรู้ว่ายาอย่างไรจะควรแก้โรคชนิดใด จะต้องรู้วิธีตรวจไข้เสียก่อน เพราะวิธีตรวจไข้เป็นหลักสำคัญของหมอในการที่จะจ่ายยา นับเป็นองค์ศิลปอันหนึ่งในวิชาแพทย์


วิธีตรวจไข้  (การซักประวัติและการตรวจโรค)

เพื่อให้ผู้เป็นหมอสามารถทราบถึงความเจ็บป่วย  รู้จักที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค และรู้จักชื่อของโรคที่คนไข้ประสบอยู่นั้นเพื่อที่จะนำมาประมวลผลสรุป  นำไปสู่การรักษาอาการเจ็บไข้  มีวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งรายละเอียดโดย  การซักประวัติและการตรวจโรค  โดยวิธี  ฟัง  (ฟังจากการซักประวัติ ,  ฟังเสียงจากการตรวจร่างกาย ฯลฯ)  คลำ  (สัมผัส, จับ เคาะ , ดึง, กด ฯลฯ)  ดู  (ดูลักษณะ, ดูสี, ดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหรืออวัยวะ ฯลฯ)  และอาจเพิ่ม  ดม เข้าไปด้วย (เช่น  กลิ่นปัสสาวะ, อุจจาระ ฯลฯ)


หลักที่  ๑  ประวัติของบุคคล

๑.  ชื่อ สำหรับทะเบียน

๒.  ที่อยู่ เพื่อรู้ถึงภูมิประเทศของคนไข้นั้นเป็นอย่างไร สำหรับรู้ประเทศสมุฏฐาน

๓.  เชื้อชาติ สำหรับรู้ลัทธิและความประพฤติ

๔.  ที่เกิด   เพื่อรู้ประเทศสมุฏฐาน

๕.  อายุ สำหรับรู้อายุสมุฏฐาน

๖.  อาชีพ สำหรับพิเคราะห์เหตุผลประกอบ

๗.  มีครอบครัวอย่างไร (ถามถึงพ่อแม่ลูกภริยา/สามี)    สำหรับพิเคราะห์ถึงเผ่าพันธุ์และหนทางที่โรคจะเกิดเนื่องกันมา

๘.  ความประพฤติอย่างไร  (ถามถึงสูบฝิ่น  กินเหล้า  เป็นต้น และอิริยาบถอื่น ๆ  ควรถามตลอดถึงอาหาร การบริโภคของชนในหมู่นั้นด้วย)  สำหรับพิเคราะห์เหตุผลประกอบ
           
๙. โรคภัยที่เคยเป็นมาแต่ก่อน  มีอาการอย่างไร


หลักที่  ๒  ประวัติของโรค

๑. อาการสำคัญ

๒.  ล้มเจ็บแต่เมื่อใด   ( ถามวันและเวลาที่แรกป่วย)  สำหรับกาลสมุฏฐาน  อุตุสมุฏฐาน  และอายุของโรค

๓.  มีเหตุอย่างไรจึงเจ็บ   (ถามกาลก่อนป่วย)  สำหรับพิเคราะห์เหตุผลประกอบ

๔.  แรกเจ็บมีอาการอย่างไร

๕.  แล้วมีอาการเป็นลำดับมาอย่างไร

๖.  ได้รักษาพยาบาลเป็นลำดับมาอย่างไร

๗.  แล้วมีอาการแปรผันเป็นอย่างไร

๘.  อาการที่ป่วยในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างไร   (เพื่อจะรู้อาการหนักเบาตามกาลในวันหนึ่งๆ)  สำหรับกาลสมุฏฐาน

๙.  อาการที่ปรากฏ  ในเวลาที่ตรวจ  หมอพินิจดูว่าเป็นเช่นไร


หลักที่  ๓  ตรวจร่างกาย


๑. เป็นคนมีรูปร่างอย่างไร

๒. มีกำลังอย่างไร

๓. มีสติอารมณ์เป็นอย่างไร

๔. มีทุกขเวทนาเป็นอย่างไร

๕. ชีพจรเดินอย่างไร

๖. หายใจเป็นอย่างไร

๗. ตรวจหัวใจ

๘. ตรวจปอด

๙. ตรวจลิ้น

๑๐.  ตรวจผิวพรรณ

๑๑.  ตรวจเฉพาะที่ป่วย (เช่น  แผล  ข้อ  กล้ามเนื้อ เป็นต้น)




หลักที่  ๔  ตรวจอาการ

๑.  ลองปรอท

๒.  เหงื่อ

๓.  อุจจาระ (ทั้งถามทั้งตรวจ)

๔.  ปัสสาวะ (ทั้งถามทั้งตรวจ)

๕.  อาหาร  การบริโภคของคนไข้

๖.   เสียง

๗.  หลับนอน

๘.  ความรู้สึกภายใน

๙.  ความรู้สึกปากและในคอ

๑๐.  ความรู้สึกภายนอก



การวินิจฉัยโรค

          ข้อความเหล่านี้ใช่ว่าจะต้องตรวจทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่องทุกรายเสมอไป พิจารณาดูแต่ความต้องการ อาจมีมากกว่านี้อย่างอื่นที่ควรถามอีกก็ได้ สุดแล้วแต่เหตุผลที่ปรากฏกระทบไปถึง แล้วแต่ความคิดเห็นของผู้ตรวจ เมื่อตรวจได้ความพอแล้ว จึงนำมาประมวลแล้ววินิจฉัยประมวลโรคโดยอาศัยหลัก ๕ ประการ ดังนี้

๑. คนเจ็บด้วยการเช่นนี้มีอะไรพิการ อยู่ในสมุฎฐานและพิกัดใด รวมความแล้วควรจะสมมุติเรียกว่าโรคอะไร

๒. โรคนั้นมีที่เกิดแต่อะไรเป็นต้นเหตุ มูลแห่งเหตุคืออะไร เมื่อคิดได้แล้ว พึงเอาอาการนั้นมาเป็นหลักวิเคราะห์ว่าคนเจ็บนั้นเกิดโรคด้วยเหตุใด มีอะไรขาดหรือเกินหรือกระทบอะไรจึงเป็นเหตุให้เจ็บไข้

๓. โรคเช่นนี้จะบำบัดแก้ไขโดยใช้วิธีใดก่อน เมื่อเห็นทางแก้ไขแล้ว จึงวิเคราะห์เลือกยาที่จะใช้บำบัดต่อไป

๔. สรรพคุณยาอะไรจะต้องใช้อย่างละมากน้อยเท่าใด ให้รับประทานเวลาอะไร ขนาดเท่าใด

๕. การเริ่มวางยาตามลักษณะโรคที่ตรวจพบ สุดแต่จะเห็นว่าสมควรให้ยาบำบัดโรคที่ทรมานสำคัญอย่างใดก่อน หลัง

เมื่อสรุปตามหลัก ๕ ประการดังกล่าวแล้ว จึงทำการพิเคราะห์ทำความเห็นการที่จะเยียวยาโดยลำดับดังนี้

๑.  ตรวจผล

(ก)  คนเจ็บมีอาการเช่นนี้    อะไรเป็นสมุฏฐาน  พิกัดอะไร

(ข)  คนเกิดในประเทศนี้     อะไรเป็นสมุฏฐาน  พิกัดอะไร

(ค)  มีอายุเท่านี้               อะไรเป็นสมุฏฐาน  พิกัดอะไร

(ฆ)  ในเวลาที่เจ็บ เป็นฤดูนี้ อะไรเป็นสมุฏฐาน  พิกัดอะไร

(ง)  เริ่มเจ็บมาถึงเพียงนี้  แล้วปรวนแปรมาโดยลำดับ  ดังนี้  อะไรเป็นสมุฏฐาน  พิกัดอะไร
รวมได้ความว่า  ธาตุสมุฏฐานอะไรพิการ  เรียกว่า  โรคชนิดใด  ชื่ออย่างไร  ดังนี้แล้วจึง

๒.  ค้นต้นเหตุ

          เมื่อได้ความแล้ว  พึงเอาอาการนั้นมาเป็นหลักพิเคราะห์ว่า  ไข้นั้นเกิดด้วยเหตุใด  คือ  อะไรขาด  อะไรเกิน หรือ  กระทบกระทั่งอะไร  จึงเป็นเหตุวิปลาสขึ้น

๓.  หาทางแก้ไข  

          เมื่อพบวิธีแก้ไขแล้ว  จึงพิเคราะห์เลือกยาที่จะใช้  ขนานใด  แก้อะไร  ใช้สรรพคุณยาอะไรบ้าง  อย่างใดมากน้อยเท่าใด  วิธีให้ยา  ควรเป็นยากิน  ทา  นวด  ประคบ  รม  ดม  สอด อย่างไร  ควรให้ยาเวลาใด  แล้วจึงวางยาตามลักษณะของโรคที่มีอยู่นั้นต่อไป




การตรวจโรค

แบ่งออกเป็น  ๒  ประการ  คือ  การตรวจร่างกายและการตรวจอาการ

๑.  การตรวจอาการ
           เช่น  ตรวจชีพจร  การหายใจ  อุณหภูมิร่างกาย  น้ำหนักตัว  การรู้สึกตัว  สติอารมณ์  ทุกขเวทนา  เสียง  ลักษณะ ทั่วๆไป  อาการอ่อนเพลีย  เซื่องซึม  ความพิการของร่างกาย  ตรวจปัสสาวะ  ตรวจอุจจาระ  เป็นต้น

การตรวจชีพจร

          ใช้นิ้วมือแตะตามหลอดเลือดใหญ่  การตรวจชีพจรแบบแผนไทยส่วนมากนิยมตรวจชีพจรบน โดยตรวจจับที่แนวเส้นเลือดใหญ่ข้อมือทั้งสองข้าง  และชีพจรล่าง  โดยตรวจจับที่แนวหลอดเลือดใหญ่หลังเท้าระหว่างหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ทั้งสองข้าง  ชีพจรที่ปกติจะเต้นเสมอ  ไม่เร็วไม่ช้า  ไม่ลึกไม่ตื้น  ไม่เล็กไม่โต   ชีพจรปกติในแต่ละวัยจะไม่เท่ากัน  เราตรวจชีพจรโดยนับจำนวนการเต้นของชีพจรว่าเต้นกี่ครั้งต่อ  ๑  นาที  การเต้นของชีพจรเกิดจากการเต้นของหัวใจ

สรุปการเต้นของชีพจรปกติในแต่ละวัย  โดยแยกตามวัยและอายุ  เป็นจำนวน ครั้ง/นาที  ดังนี้




      นอกจากจะตรวจนับชีพจรเพื่อทราบอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว  เรายังสามารถตรวจทราบความผิดปกติบางประการของร่างกายได้จากการสังเกตลักษณะการเต้นของชีพจรได้ด้วย

การเต้นของชีพจรที่บอกให้ทราบถึงความผิดปกติในร่างกาย

๑.  เดินตื้น   เต้นเร็วพอประมาณ  แต่แรง  เม็ดกลาง  เดินเสมอ
แสดงว่า   มีพิษร้อนเกิดขึ้น  แต่โรคยังน้อย

๒.  เดินตื้น     เต้นแรงและเร็ว  เม็ดใหญ่  เดินเสมอ
แสดงว่า   มีพิษร้อน  โรคนั้นหนักปานกลาง

๓.  เดินตื้น   เต้นแรงและเร็ว จนนับเกือบไม่ทัน เม็ดใหญ่  เดินเสมอ
แสดงว่า  มีพิษร้อนจัด  โรคนั้นค่อนข้างหนัก
ถ้าเม็ดเล็ก   แสดงว่า  มีพิษร้อนจัด  โรคนั้นหนัก

๔.  เดินลึก       เต้นช้า   เม็ดใหญ่   เดินเสมอ
แสดงว่า  คนไข้กำลังน้อย   อ่อนเพลีย  แต่โรคยังเป็นน้อย

๕.  เดินลึก      เต้นเร็ว  เม็ดปานกลาง  เดินเสมอ
แสดงว่า  คนไข้ให้ใจเหี่ยวแห้งโหยหิว  โรคหนักพอประมาณ

๖.  เดินลึก        เต้นเร็วและแรง  เม็ดเล็ก  เดินเสมอ
แสดงว่า  คนไข้มีอาการให้สวิงสวาย  อ่อนเพลียมาก  ประกอบกับมีพิษ  โรคค่อนข้างมาก

๗.  เดินตื้น        เต้นเร็วและแรง  เม็ดใหญ่หรือปานกลาง  เดินไม่เสมอ  มีหยุดเป็นตอน ๆ
     นาทีละ  ๒-๓  ครั้ง  สะดุด  กระแทกเป็นครั้งคราว  บางคราวเพ้อคลั่ง
แสดงว่า  คนไข้มีพิษร้อนจัดมาก   แสดงว่าโรคหนัก  แต่ยังพอรักษาได้

๘.  เดินลึก        เต้นแรงและเร็วจนนับเกือบไม่ทัน  เม็ดเล็ก  เดินไม่เสมอ  มีหยุดเป็นระยะ ๆ  บางครั้งเดิน 
      สะบัด สะดุดสะท้อนขึ้น  ให้ร้อนกระวนกระวายใจ  ระส่ำระสาย
      แสดงว่า   คนไข้มีพิษร้อนภายในมาก  โรคนี้ได้ ๑ เสีย ๑  ยังพอรักษาได้

๙.  เดินลึกบ้างตื้นบ้าง       เต้นแรงจัดและเร็วมาก  เม็ดอย่างกลางบ้าง เล็กบ้าง  เดินไม่เสมอกัน
      ๗-๘  ครั้ง  หยุดครั้งหนึ่ง   เดินแกว่งเหมือนงูเลื้อย  คนไข้ดิ้นรนกระสับกระส่าย  ร้อนเป็นกำลัง
     แสดงว่า    อาการหนัก  ธาตุไฟจวนแตก  ได้ ๑  เสีย ๒

๑๐.  เดินลึกมาก เร็วจนนับไม่ทัน    เม็ดเล็กมาก  เดินไม่ปกติมีหนักมีเบา  เหมือนนกกระพือปีก  คือ
        เดินเร็ว  ประมาณ  ๙-๑๐  ตุ๊บ  แล้วกลับเดินช้าคล้ายจะหยุดประมาณ  ๕-๖  ตุ๊บ  แล้วกลับเดินเร็ว 
        เดินช้าอีกนาทีละหลายครั้ง  บางทีเดินเร็วที่สุดแล้วหยุดพักชั่วคราว เหมือนเป็ดไซ้แหน แล้วเดินอีก
       นาทีละหลายครั้ง  คล้ายมีไข้  มีอาการสลบไสลไม่ได้สติ
       แสดงว่า    อาการหนักมากที่สุด ได้ ๑ ส่วน  เสีย  ๓  ส่วน

๑๑.  ชีพจรของคนไข้หนักที่ใกล้จะสิ้นชีวิต     จะเดินเร็วที่สุดแล้วหยุด  หรือ  ช้าที่สุดแล้วหยุด  หรือ  เต้น
        ไม่เป็นจังหวะ ให้กดตรงเส้นชีพจรข้อมือแรงพอสมควรให้สังเกตตุบของชีพจร คือ เร็ว ช้า  แรง เบา
        คนปกติชีพจรจะเต้นนาทีละ ๗๒ ตุบเป็นประมาณ เด็กจะเต้นเร็วกว่าผู้ใหญ่ ผู้หญิงเต้นเร็วกว่าผู้ชาย
        บ้าง และให้สังเกตระยะที่เต้น ว่าเสมอหรือมีพัก สังเกตตุบหนักเบาและโลหิตเดินเต็มเส้นหรือเปล่า          สังเกตเป็นเส้นเล็กหรือใหญ่ หนัก เบา เป็นต้น    


การวัดอุณหภูมิคนไข้

๑. ตรวจโดยการสัมผัส  โดยใช้มือแตะตามร่างกายของคนไข้  เช่น  แตะหน้าผาก  ข้างคอ หรือบริเวณที่เกิดโรค

๒. ตรวจโดยใช้เทอร์โมมิเตอร์   โดยให้คนไข้อมกระเปาะปรอทไว้ใต้ลิ้น  ๑  นาที  ถ้าคนไข้อมไม่ได้หรือเป็นเด็ก  ให้หนีบไว้ที่รักแร้  ๒  นาที  เด็กเล็กสอดไว้ในรูทวารหนัก  ในกรณีที่วัดที่รักแร้ต้องเพิ่ม ๒  องศา


อุณหภูมิของร่างกายที่ควรทราบ

๔๑๐ ํC  หรือ   ๑๐๖๐ ํF ขึ้นไปมีไข้สูงมาก  อาจถึงแก่ชีวิตได้  แต่บางกรณีไข้สูงกว่า ๔๑๐ ํC  เช่น สันนิบาตหน้าเพลิง  อาจสูงถึง  ๔๑.๗๐ ํC  แต่ยังมีชีวิตได้  ถ้ารักษาทัน

๔๐๐ ํC  หรือ   ๑๐๔๐ ํF เข้าเขตไข้พิษ  ไข้สูง  มักมีอาการเพ้อ ตัวร้อนจัด  ตาแดงเข้ม  กระวนกระวาย
๓๗.๘ - ๔๐๐ ํC   มีไข้

๓๗๐ ํC  หรือ   ๙๘.๓๐ ํF ปกติ


ตรวจเทียบระดับความร้อนในร่างกาย

ใช้มือแตะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  ปลายมือปลายเท้า  เพื่อทราบว่าเลือดเดินไปได้ทั่วถึงเสมอกันหรือไม่


ดูอวัยวะต่าง ๆ

เช่น  มือ เท้า  เล็บมือเล็บเท้า  แขน  ขา  ศีรษะ  การเคลื่อนไหวของร่างกายปกติหรือไม่ประการใด  สังเกตลักษณะทั่วไปของคนไข้  สังเกตตั้งแต่คนไข้เดินเข้ามาพบ  ลักษณะ  ท่าทาง  การเดิน  การทรงตัว


ตรวจอุจจาระ

๑.  อุจจาระมีสีดำ แดง  เป็นเมือกมัน  เป็นด้วยไข้รากสาด  บิด  ไข้พิษ  ไข้กาฬ  อติสารธาตุพิการ

 ๒.  อุจจาระเทา   เป็นมูลโค   เนื่องจากธาตุหย่อน  ซาง  ไข้กาฬ

๓.  อุจจาระสีเหลืองเขียว      เนื่องจากดีพิการ  ไข้ป่า  ไข้ป้าง  อติสาร


ตรวจปัสสาวะ

๑.  ปัสสาวะสีแดงจัด เนื่องจากไข้เพื่อดีละโลหิต  เช่น  ไข้ป่า  ไข้ป้าง

๒.  ปัสสาวะสีเหลืองแก่ เนื่องจากดีพิการ  ในไข้ป่า  ไข้ป้าง  ไข้พิษ
           
๓.  ปัสสาวะขุ่นมัน  สีชาแก่ เนื่องจากไตพิการ  ในโรคไตพิการ  ไข้รากสาด  ไข้พิษ  เบาหวาน



๒.  การตรวจร่างกาย

๑.  ตรวจผิว  เช่น   ผิวซีดเหลือง  ตาเหลือง เนื่องจากดีพิการ  ดีซ่าน  ผิวเหลืองแห้ง  ริมฝีปากแห้ง  เนื่องจากโลหิตพิการ  ผิวหนังมีผื่นแดงทั้งตัว  เนื่องจากโลหิตทำพิษ  หรือ  โลหิตซ่าน เป็นต้น

๒.  ตรวจตา   ปกติดีทั้งสองข้างหรือไม่  หนังตาตกหรือไม่ สีของตาขาวและตาดำปกติหรือไม่  มีขี้ตา มาก  กุ้งยิงต้อ  แก้วตาปกติหรือไม่ รูม่านตาปกติหรือไม่เปลือกตาซีด ตาโรย  เป็นต้น  ถ้าตาขาวโรย  เปลือกตาเผือดดำ  บางรายตาเขียว ขุ่นมัว เนื่องจาโลหิตน้อย  น้ำดีพิการ  ประสาทพิการ  โรคนอนไม่หลับ  เป็นไข้

๓.  ตรวจหู  เช่น    หูอื้อ  หูน้ำหนวก  แก้วหูปกติหรือไม่

๔.  ตรวจจมูก  เช่น    มีน้ำมูก  เลือดกำเดา  เยื่อจมูกเป็นเช่นไร

๕.  ตรวจปากคอ  ริมฝีปากสีเป็นอย่างไร  ปิดได้สนิทหรือไม่  เบี้ยวหรือไม่  ฟัน เหงือก กระพุ้งแก้ม ต่อมทอนซิล  ขากรรไกร  คอแข็ง  คางบวม  ก้อนที่คอ  เส้นเลือดที่คอ เป็นต้น  ปากเหม็น เนื่องจากโรคฟัน อาหารและธาตุพิการ  น้ำลายพิการ  ปากแตกระแหง เนื่องจากธาตุพิการ เลือดน้อย เป็นไข้  ตรวจลิ้นเป็นฝ้าละออง  พบในไข้ธรรมดาหรือไข้พิษ  ลำไส้พิการ  กระเพาะอาหารและธาตุพิการ  แตกแห้งเป็นเม็ดเป็นขุม พบในธาตุพิการ  ไข้พิษ  ไข้ป้าง  ไข้รากสาด  เป็นเม็ดกาฬพบในไข้กาฬ    ลิ้นและปากเปื่อยพบในน้ำลายพิการ

๖.  ตรวจต่อมต่าง ๆ คลำตามจุดที่ตั้งต่อมต่าง ๆ ที่สำคัญ ที่อาจมีการอักเสบ  บวมแดงได้ เช่น  ต่อมทอนซิล  ต่อมน้ำเหลืองหลังหู, ใต้คาง, รักแร้,คอ, ขาหนีบ เป็นต้น

๗.  ตรวจหัวใจ  การตรวจหัวใจ  ทำได้โดยใช้นิ้วมือแตะระหว่างซี่โครงหน้าอก  ซี่ที่  ๕-๔  อยู่ใต้ราวนมซ้าย  หรือใช้เครื่องมือช่วยฟัง  ก็จะทำให้ฟังได้ชัดเจนและสะดวกขึ้น  การฟังเสียงหัวใจ  สามารถฟังได้ทั้งด้านหน้าใต้ราวนมซ้าย  หรือใต้สะบักซ้าย   อัตราการเต้นของหัวใจจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับการเต้นของชีพจร  ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของคนไข้


ลักษณะเสียงหัวใจพิการ

๑.  โรคหัวใจบวม เสียงเต้นทึบ  ฝืด ไม่โปร่ง  คล้ายกับมีของหนักทับอยู่  ชีพจรเดินช้า  เม็ดใหญ่และตื้น  แต่เดินเสมอกัน  มีอาการคับอก  อึดอัด  หายใจไม่สะดวก  เหนื่อยง่าย  มีหอบเป็นบางครั้ง  อุจจาระปัสสาวะไม่สะดวก  ผิวซีดต่อมาตัวบวม  หน้าบวม  แล้วมือและเท้าบวมในระยะหลัง

๒.  โรคหัวใจอ่อน เต้นเบาและช้า  เสียงเล็กดังตึ้กๆ  ชีพจรเดินลึก  เม็ดขนาดกลาง  เดินช้าและเบา  มีอาการอ่อนเพลีย  มักเป็นลมบ่อย ๆ  นอนไม่ค่อยหลับ  หรือหลับไม่สนิท  ตื่นง่าย  สะดุ้งตกใจง่าย  ถ้าตกใจมักเป็นลม  หรือคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น

๓.  โรคหัวใจฝ่อ เสียงดังฟืด ๆ แฟด ๆ  คล้ายท่อรั่ว  ชีพจรเดินตื้น  เม็ดเล็ก  เดินเร็ว  หนักบ้าง เบาบ้าง  เสมอบ้าง ไม่เสมอบ้าง มีอาการใจคอเหี่ยวแห้ง  ง่วงเหงา เศร้าใจ  วิตก  หวาดกลัว  เป็นทุกข์ ฟุ้งซ่าน  ไม่สงบ  โกรธง่าย  หงุดหงิด  นอนไม่หลับ  ถ้าเป็นอยู่นานหรือเป็นมาก  ให้คลุ้มคลั่ง  สติอารมณ์ไม่ปกติ  คุ้มดีคุ้มร้าย  พูดจาฟั่นเฟือน  อาจเสียจริตได้

โรคที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วมาก  เช่น  ไข้  ไข้ต่อมอักเสบ  โรคขลาดกลัว (โรคประสาท) เป็นต้น

โรคที่ทำให้หัวใจเต้นช้า  เช่น  สตรีระหว่างการคลอด  หลังฟื้นไข้จากไข้พิษ  ดีซ่าน  โรคสมอง  โรคโลหิตจาง  โลหิตปกติโทษ  เหนื่อยอ่อน เป็นต้น


๘.  ตรวจเส้นอัษฏากาศ

    เป็นเส้นหัวใจเบื้องบน  เป็นทางให้โลหิตฉีดออกจากหัวใจไปตามเส้นใหญ่น้อยของร่างกายตอนบน  อยู่ใต้คอหอยลงมาทางด้านซ้ายประมาณ  ๑  นิ้วเศษ  สามารถตรวจจับได้จากเส้นเลือดใหญ่ที่ข้อมือทั้งสองข้าง

    เส้นอัษฏากาศ  อาจพิการได้เนื่องจากเส้นตีบ ขัดข้อง ติดขัด  เกิดเม็ดหรืออุดตันขึ้นในเส้น  ถูกความร้อนความเย็นเกินประมาณ ทำให้เลือดเดินไม่สะดวก  เกิดพิษขึ้น  พิษกลับเข้าไปทำให้หัวใจพิการ  เป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ  เช่น  ลม  ๖  ประการ  ลมชิวหาสดมภ์  ลมมหาสดมภ์  ลมทักขิณโรธ  ลมตะนิยาวิโรธ  กาฬสิงคลี  ลมนางงุ้ม และลมนกนางแอ่น เป็นต้น

๙.  ตรวจเส้นสุมนา

          เส้นสุมนา เป็นเส้นขั้วหัวใจตอนล่าง เป็นทางให้เลือดออกจากหัวใจไปสู่เส้นน้อยใหญ่ของร่างกายตอนล่าง  อยู่ระหว่างทรวงอกเหนือลิ้นปี่ขึ้นไป  ๒  นิ้ว  สามารถตรวจได้โดยสอดนิ้วไปใต้ลิ้นปี่กดลงเบา ๆ  จะพบการเต้นเหมือนการตรวจชีพจร  เพื่อให้ทราบการทำงานของหัวใจตอนล่าง
    เส้นสุมนาอาจพิการได้  เนื่องจากเส้นตีบ ขัดข้อง ติดขัดหรือมีเม็ดขึ้นในเส้น  หรืออาจถูกเส้นอิทาหรือเส้นปิงคลาเบียดหรือทับ  ทำให้เลือดเดินไม่สะดวก  จึงเกิดพิการขึ้น  เกิดพิษ  พิษนั้นกลับเข้าทำให้หัวใจพิการ  ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น  ลม  ๖  ประการ  คือ  ลมราทยักษ์  ลมกุมภัณฑยักษ์  ลมบาดทะจิต  ลมพุทธยักษ์  ลมอัคมุขี  และลมอินธนู (ดูรายละเอียดในคัมภีร์ชวดาร)   เมื่อแก้หายแล้ว  บางครั้งกลายเป็นอัมพาต เป็นต้น

๑๐.  ตรวจเส้นอัมพฤกษ์

            เส้นอัมพฤกษ์   อยู่เหนือสะดือขึ้นไป  ๑  นิ้วเศษ  เป็นเส้นที่แยกมาจากเส้นสุมนา  เพื่อส่งเลือดไปตามอวัยวะตอนล่าง  มีขาและเท้า เป็นต้น  ตรวจได้โดยใช้นิ้วมือกดนับเช่นเดียวกับการตรวจชีพจรหรือตรวจจับที่หลังเท้าทั้งสองข้างก็ได้
          เส้นอัมพฤกษ์  อาจพิการได้เนื่องจากเอ็นที่รองรับเส้นนี้เป็นเม็ด  แข็ง หรือตึง ติดขัด ขัดข้อง ดันเส้นให้โค้งขึ้นมา  ทำให้เลือดเดินไม่สะดวก  ทำให้เกิดโรคขึ้นได้หลายประการ  เช่น  อัมพฤกษ์กำเริบ  ทำให้นอนไม่หลับ  สะทกสะท้าน  กระตุกตามเส้น  หัวใจสั่น  สะบัดร้อนสะบัดหนาว  เป็นต้น

๑๑.  ตรวจปัปผาสัง  (ปอด)

     ตรวจโดยการฟังเสียงด้วยเครื่องมือฟังเสียงที่ทรวงอกซ้าย-ขวา  ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  ฟังเสียงหลอดลม  ดูการเคลื่อนไหวของปอดเท่ากันทั้งสองข้าง  เสียงจากการเคาะ  เสียงหายใจ   เสียงปกติจะดังเสมอ  โปร่ง   ถ้าพิการ  จะมีเสียงผิดปกติ  เช่น  เสียงครืดๆ ฟืดๆ หวีด ทึบ ไม่โปร่ง  เป็นต้น

 
       ตรวจนับอัตราการหายใจ โดยสังเกตการณ์กระเพื่อมของทรวงอกหรือหน้าท้องขึ้นลง ๑ - ๒  นาที   อัตราการหายใจปกติ

ผู้ใหญ่และเด็กโต ๑๒ - ๒๐     ครั้ง/นาที

เด็กเล็ก ๑๖ - ๒๔     ครั้ง/นาที

ทารกแรกเกิด ๓๐ - ๔๐     ครั้ง/นาที


ปอดอาจพิการได้จากสาเหตุหลายประการ  เช่น

๑.  ปอดบวม   อาจเนื่องมาจากไข้หวัดใหญ่  มีอาการไอ  เหนื่อยง่าย  หายใจไม่สะดวก

๒.  เกิดจากพิษไข้  พิษกาฬ  หอบมาก  ร้อนในกระหายน้ำ

๓.  ฝีในปอด (วัณโรค)  เป็นต้น

ดูการหายใจ     ว่าหายใจสะดวกหรือติดขัด  สะท้อนหรือโล่ง  หายใจสั้นหรือยาว  หอบหรือประการใด เป็นต้น


โรคที่อาจทราบได้จากการตรวจฟังปอดและหัวใจ

๑.  ไข้  ไข้หวัด  ไข้รากสาด   ปอดมีเสียงหวีดๆ  เคาะหน้าอกมีเสียงก้อง  หายใจออกยาวกว่าปกติ

๒.  โรคถุงลมหย่อน    เวลาไอ  เสมหะยังไม่ออก  จะมีเสียงทึบ  ถ้าเสมหะออกแล้ว  จะมีเสียงโปร่งเหมือนเป็นโพรง

๓.  โรคหืด     เสียงหายใจถี่  หายใจออกยาว  เสียงปอดคร๊อกแคร๊ก

๔.  โรคปอดอักเสบ  โรคผอมแห้ง  ไตอักเสบ  โรคหัวใจพิการ  โรคสมอง    ฟังหัวใจ  มีเสียงลมหายใจดังฟูด ๆ และเสียงเปียก

๕.  ไข้พิษ    เสียงปอดดังทึบ  หัวใจเต้นเร็ว  แต่เสียงหายใจยาวและสั้น

๖.  ไข้ปวดเมื่อย  ไข้อีดำอีแดง   เสียงหัวใจเต้นสม่ำเสมอ  เสียงลิ้นหัวใจรัวสั่น

๗.  ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ    ซึ่งมักจะเกิดต่อเนื่องในผู้ป่วยวัณโรค  ไข้ปวดเมื่อย  ไข้ตะวันออก (ไข้ป่า)
ไตอักเสบ  คนไข้จะรู้สึกยอกในซี่โครงซี่ที่  ๓-๔  ตรงหัวใจมีความร้อนสูง  เสียงติดขัด  เสียดสีกัน  หัวใจเต้นเบาและอ่อน

๘.  ปวดเมื่อยของสตรี  โรคลมขัดข้อ  บวม  ปัสสาวะเป็นหนอง    คลำหน้าอกตรงหัวใจรู้สึกสะเทือนครืด ๆ  เคาะมีเสียงก้องบริเวณทางขวาของกระดูกหน้าอก  ฟัง  เสียงหัวใจที่ใต้ราวนม  มีเสียงครืดๆ  ชีพจรอ่อนเบา  ไม่สม่ำเสมอ  เสียงปอดฟังชัด


๑๒.  ตรวจยกนัง  (ตับ)

      ตับ ตั้งอยู่ชายโครงด้านขวา  ตรวจได้โดยใช้ปลายมือกดเข้าไปใต้ชายโครงด้านขวา  เพื่อดูว่ามีตับหย่อนลงมาหรือ มีก้อนหรือไม่  แล้วเคาะฟังเสียง  เสียงปกติจะดังติ๊ก ๆ  โปร่ง   ถ้าธาตุพิการจะมีเสียงปุ ๆ  ฟ่าม ไม่แน่น หรือ แกร่ง  แข็งกระด้าง

       ลักษณะตับพิการมีหลายประการ  เช่น

๑.  โรคตับบวม   เสียงดังปุ ๆ  ชายโครงนูนสูงขึ้น  รู้สึกอึดอัดตามชายโครง  ปวดเสียดตามชายโครงถึงหัวใจ  เวลาหายใจเสียวในหัวใจ  ตอนนอนจะแน่น  หายใจไม่ออก  ต้องนั่งจึงจะสบาย  มือเท้าบวม  สะท้านร้อนสะท้านหนาวคล้ายเป็นไข้

๒.  กาฬขึ้นตับหรือฝีในตับ    ชายโครงบวมมีสีดำ แดง เขียว ช้ำเลือดช้ำหนอง  อาจเป็นเม็ดผื่น  มีพิษร้อนที่ชายโครง  ทำให้ร้อนและเจ็บปวดที่ตับ  อาจอาเจียน  ถ่ายเป็นเลือด  เป็นต้น

๓.  ตับย้อย    ตรวจพบตับหย่อนลงมาจากแนวชายโครง  มีไข้จับสั่น ร่างกายซูบซีดผอมเหลือง เป็นต้น

๔.  โรคตับโต    เคาะที่ชายโครงขวา  มีเสียงทึบ  แข็งกระด้าง  มีไอแห้ง  ผอมเหลือง  ผิวซีดขาว
กินไม่ได้  นอนไม่หลับ  เป็นต้น


๑๓.  ตรวจวักกัง (ม้าม)

      ม้ามตั้งอยู่ที่ชายโครงด้านซ้ายติดข้างกระเพาะอาหาร ใต้หัวใจ  ตรวจได้โดยเคาะฟังที่ชายโครงซ้าย  เสียงปกติจะดังติ๊ก ๆ  และโปร่ง  และใช้ปลายมือกดตรวจที่ใต้ชายโครงซ้าย

 

   ลักษณะม้ามพิการมีหลายประการ เช่น

๑.  ม้ามบวม    ชายโครงบวมเหมือนอกเต่า  ผิวบริเวณนั้นสากชา  เคาะเสียงดังปุ ๆ  สะบัดร้อนสะบัดหนาว  เวลาหายใจเสียวซ่านไปถึงหัวใจ  ขัดยอกตามชายโครงซ้าย  เป็นมาก  นอนไม่ได้  แน่น  ปวดที่ม้าม

๒.  ม้ามย้อย (ป้าง)    กดตรวจพบม้ามยื่นลงมาใต้ชายโครงเหมือนลิ้นหมูแลบออกมา  ผอมเหลือง
ซูบซีด เป็นต้น


     การย้อยของม้ามแบ่งเป็น  ๓  ระยะ

๑.  ระยะแรก ย้อยลงมาเสมอระดับชายโครง

๒.  ระยะกลาง ย้อยพ้นชายโครง  ๒-๓  นิ้ว

๓.  ระยะสุดท้าย ย้อยลงมาอยู่ในแนวสะดือ


๑๔.  อันตัง (ลำไส้ใหญ่)

         ลำไส้ใหญ่  แบ่งเป็น  สองตอน  คือ

         ตอนบน     เริ่มตั้งแต่ลำคอลงไปรวมถึงกระเพาะอาหาร

         ตอนล่าง     เริ่มตั้งแต่ลำไส้น้อยไปถึงทวารหนัก  ทำหน้าที่ย่อยอาหารและขับกากอาหาร


ตรวจโดยสังเกตอาการ  เมื่อพิการให้วิงเวียน  นัยน์ตาพร่า  ถ้ายืนตรงให้หาวให้เรอ ให้สะอึก  ให้ขัดในอก  เมื่อยเอว เมื่อยหลัง  เส้นรัตตฆาต  เสียดสองราวข้างบ่อย ๆ  ให้ร้อนท้อง  ร้อนคอ  เป็นลมโฮก  ตกเลือดตกหนอง

          กระเพาะอาหาร     เมื่อพิการ  ให้อาเจียน  ให้ท้องเดิน  ให้ปวดท้อง  อาหารไม่ย่อย  ท้องขึ้น  อืดเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว  จุกเสียด แน่น เบื่ออาหาร  ปวดท้องเมื่ออิ่ม  บางครั้งอุจจาระเป็นสีดำ


๑๕.  อันตะคุณัง  (ลำไส้น้อย)

      ลำไส้น้อย  ต่อจากกระเพาะอาหารถึงลำไส้ใหญ่  มีหน้าที่ย่อยอาหาร

      ตรวจโดยสังเกตอาการ  เมื่อพิการให้พะอืดพะอม  ท้องขึ้น  ท้องพอง  มักเป็นมานกษัย  บางทีให้ลงท้อง  ตกมูกเลือด  ให้อาเจียน  ให้ปวดขบในท้อง  ขัดในอก  กินมิได้  ให้เหม็นอาหาร  เป็นไส้ตีบ  กลืนอาหารไม่ลง

           กระเพาะอาหาร เป็นที่พักอาหาร สัณฐานคล้ายรูปกระเป๋าอยู่ในชายโครง โค้งห้อยอยู่ข้างซ้าย ต้นขั้วกระเพาะอยู่ตรงทรวงอกที่ลิ้นปี่ ปลายกระเพาะเฉียงไปอยู่ขวา กระเพาะอาหารมีเนื้อ ๓ ชั้น ขวางไขว้กัน ชั้นนอกเหนียวแข็งแรง ชั้นสองในเนื้อนั้นขวางไขว้ ชั้นที่สามคือชั้นใน มีเส้นโลหิตเม็ดต่อมภายใน ใช้สำหรับขับน้ำย่อยละลายอาหารที่กิน กระเพาะอาหารมี ๒ ช่อง ช่องหนึ่งอาหารที่กลืนลงไปตามหลอดอาหารเลื่อนเคลื่อนเข้าต้นกระเพาะ ช่องที่สองเลื่อนไหลลงสู่ไส้น้อย เมื่อพิการ มีอาการให้อาเจียน ให้ท้องเดินให้ปวดท้อง จุกเสียด รับประทานอาหารเข้าไปไม่ย่อย ทำให้แน่นท้อง อาหารเป็นพิษ ทำให้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว รับประทานอาหารอิ่มบางทีทำให้ปวดท้อง มีอาการเบื่ออาหาร บางที่เกิดแผลขึ้นในกระเพาะอาหาร เวลาไปอุจจาระมีโลหิตเจือปน


๑๖.  ตรวจปิหะกัง

      ตรวจโดยการกดบริเวณท้องน้อยเหนือหัวเหน่าขึ้นมา  ๒  นิ้ว  ทั้งสองข้าง  ปกติจะไม่พบก้อนหรือขอดแข็ง  และตรวจดูบริเวณบันเอวตอนหลังทั้งสองข้าง  ปกติจะไม่มีอาการบวมหรือฟกช้ำ

      ลักษณะไตพิการ  มีหลายประการ  เช่น

๑.  ไตบวม     มีอาการให้ตึงที่ข้างท้องน้อย เป็นก้อนแข็ง  ถ้ายืดท้องจะเจ็บปวดเสียวท้องน้อยถึงบั้นเอว  ให้ขัดแน่นในอก  ด้านหลังบวมเป็นลื่น ๆ  เมื่อยปวดที่บั้นเอว  ปัสสาวะขัด  ถ้าทิ้งไว้นาน  ให้บวมทั้งตัว หน้า มือ เท้า  อ่อนเพลีย

๒.  ไตอักเสบ     อาจเกิดจากการกระทบกระแทก  อาการให้ปวดท้องน้อยและบั้นเอว  ปวดปัสสาวะ  ปัสสาวะไม่ออก  กระปริดกระปรอย  หยดย้อย


๑๗.  ตรวจกระเพาะปัสสาวะ

      ตรวจโดยการคลำเบา ๆ  บริเวณท้องน้อย ปกติจะเรียบ  ไม่บวมนูน  เวลากดจะไม่เจ็บ

      ลักษณะกระเพาะปัสสาวะพิการ   มีหลายประการ เช่น

๑.  กระเพาะอักเสบ    มีอาการท้องน้อยบวมนูนเล็กน้อย  ปวดเจ็บ  เสียวซ่านบริเวณหัวเหน่า  แสบร้อน  ปัสสาวะร้อน  แดง  หรือแดงคล้ำเหมือนเลือด  ปวดเป็นกำลัง  นั่งลุกไม่สะดวก

๒.  กระเพาะปัสสาวะเป็นแผล     มีอาการ  ปัสสาวะเป็นโลหิตสด ๆ   บางทีช้ำเลือดช้ำหนอง  ปวดแสบปวดร้อน  ปัสสาวะไม่ออก  เป็นต้น


๑๘.  ตรวจมดลูก

      ตรวจโดยใช้มือคลำบริเวณท้องน้อย  กดนิ้วพอควร ปกติจะไม่บวม  เจ็บปวด  ลักษณะมดลูกพิการ  เช่น

๑.  มดลูกบวม     มีอาการปวดบวมที่ท้องน้อย  เคลื่อนไหวตัวปวด  ขัดอุจจาระปัสสาวะ  ปวดเมื่อยบั้นเอวถึงก้นกบ

๒.  ฝีในมดลูก     มีอาการปวดตุ๊บ ๆ  ที่มดลูก  ปวดร้าวท้องน้อย  คลำพบความร้อน  ขณะฝีตั้งหนองทำให้ปวดสาหัส  เมื่อฝีแตก  จะมีเลือดและหนองออกมาทางช่องคลอด  อาการเจ็บปวดทุเลาลง


การตรวจโรคโดยการสังเกต

                      ๑. ตรวจสติอารมณ์ เพื่อรู้ความปกติหรือความฟั่นเฟือนแห่งกำลังใจของผู้ป่วย

                      ๒. ตรวจเสียง เพื่อดูว่าเสียงนั้นปกติ แหบ แห้ง หรือวิปริตอย่างไร

                      ๓. ตรวจการหายใจ เพื่อรู้อาการ เร็ว ช้า สั้น ยาว หนัก เบา

                      ๔. ตรวจทุกขเวทนา เพื่อรู้อาการหนัก เบา ต่าง ๆ ที่มีกับผู้ป่วย


การตรวจโดยวิธีการถาม

                    ๑. เมื่อก่อนจะเจ็บมีเหตุอย่างไร เพื่อประสงค์รู้มูลแห่งเหตุของโรคที่เกิดขึ้น

                    ๒. ล้มเจ็บมาแต่ วัน เดือน เวลาใด เพื่อรู้ฤดูสมุฏฐาน กาลสมุฏฐาน

                    ๓. แรกเจ็บมีอาการอย่างไร เพื่อดูอาการหนักเบาของโรคที่เป็นมาแล้ว

                    ๔. อาการที่รู้สึกไม่สบายในวันหนึ่ง ๆ เวลาใด เพื่อรู้กาลสมุฏฐาน

                    ๕. การรักษาพยาบาลแล้ว มีอาการเป็นอย่างไร เพื่อรู้การผันแปรของโรค

                    ๖. เจ็บมาได้กี่วัน เพื่อรู้อายุของโรคซึ่งตกอยู่ในระหว่างโทษชนิดใด

                    ๗. ผู้ป่วยอายุเท่าไร เพื่อรู้อายุสมุฏฐาน

                    ๘. โรคประจำตัวมีอย่างไร เช่น ความดัน เบาหวาน ภูมิแพ้ ริดสีดวง โรคทางกรรมพันธุ์ เป็นต้น

                    ๙. ความประพฤติที่เป็นอยู่เนืองนิตย์ของผู้ป่วย เช่น ดื่มสุราไหม ติดสิ่งเสพติดไหม  อาชีพ อิริยาบถ การออกกำลังกาย เป็นต้น

                    ๑๐. การนอนของคนไข้ เพื่อดูว่าหลับมากน้อย หลับสนิทไหม หรือไม่หลับ

                    ๑๑. บริโภคอาหารเป้นอย่างไร ได้มากหรือน้อย มีรสอร่อยหรือไม่

                   ๑๒. ความทุกข์เวทนาเป็นอย่างไร เพื่อรู้ความปวดขัด ยอก จุกเสียดในที่ใด ทั้งภายในและภายนอก

                   ๑๓. ความรู้สึกในปาก ลิ้น คอ และในที่ต่าง ๆ เพื่อรู้เป็นปกติหรือพิการ


                 เมื่อตรวจและถามพอกับความต้องการแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของแพทย์จักต้องวินิจฉัยหาเหตุและผล ตามหลักของสมุฏฐานต่าง ๆ ว่าโรคที่เกิดขึ้นนี้ มีสมุฏฐานอะไรเป็นเหตุและธาตุใด พิกัดใด พิการบ้าง รวมธาตุที่พิการมีกี่อย่าง ธาตุสมุฏฐานใด กำเริบ หย่อน พิการ ความรู้แผนกนี้แพทย์จะต้องรู้ให้รอบคอบทุกประการ                  
                   

สรุปอาการที่ตรวจพบ  (อ.พ.)

เป็นการสรุปอาการหลักที่ตรวจพบในการตรวจครั้งนั้น ๆ


การวินิจฉัยโรค  (การประมวลโรค)

 เมื่อทำการตรวจโรคตามที่กล่าวมาแล้ว จึงนำผลของการตรวจนั้นมาสรุปเพื่อประมวลผลตามลำดับ คือ


๑.  สรุปผลเพื่อทราบสมุฏฐานที่ตั้งที่แรกเกิดของโรคและชื่อโรค โดยพิจารณาจากสมุฏฐานต่าง ๆ ดังนี้

      ๑.  คนเจ็บมีอาการเช่นนี้ สมุฏฐานอะไร  พิกัดอะไร  กำเริบ  หย่อน  หรือพิการ

      ๒.  คนเกิดในประเทศนี้ สมุฏฐานอะไร  พิกัดอะไร  กำเริบ  หย่อน  หรือพิการ

      ๓.  คนไข้มีอายุเท่านี้ สมุฏฐานอะไร  พิกัดอะไร  กำเริบ  หย่อน  หรือพิการ

     ๔.  เกิดการเจ็บป่วยในฤดูนี้ สมุฏฐานอะไร  พิกัดอะไร  กำเริบ  หย่อน  หรือพิการ

     ๕.  เริ่มเจ็บไข้เวลานี้ สมุฏฐานอะไร  พิกัดอะไร  กำเริบ  หย่อน  หรือพิการ

รวมสรุปแล้ว  ธาตุสมุฏฐานอะไรพิการ  ชื่อโรคอะไร

๒.  พิจารณาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค   โดยพิจารณาจากมูลเหตุที่ทำให้เกิดโรค  อะไรขาดหรือเกิน

๓.  พิจารณาหาวิธีรักษาโรค    ว่าควรรักษาด้วยวิธีใด  ด้วยยาขนานใด  ขนาดและวิธีใช้ยานั้น ๆ

๔.  การรักษาโรค     เช่น  โดยการใช้ยา  การนวด  อบ  ประคบ  การใช้วิธีการอื่น ๆ คำแนะนำ

๕.  พิจารณาหาทางแก้ไข  เมื่อได้ทำการรักษาโรคไปแล้ว  ถ้าโรคนั้นยังไม่ถอย  ควรจะใช้วิธีการรักษา  หรือเปลี่ยนแปลงไปใช้ยาอย่างใดจึงจะเหมาะสม

6 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณบทความดีๆ ของอาจารย์มากค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอขอบคุณอาจารย์มากๆนะคะที่แบ่งปันความรู้ให้กับลูกศิษย์

    ตอบลบ
  3. ดีค่ะอ่านแล้วเข้าใจมากขึ้น ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  4. ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

    ตอบลบ