คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์

โดย  ยส  พฤกษเวช

        คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์  กล่าวถึงโรคของเด็กเกี่ยวกับซางเรียก  ลำบองราหู   ลักษณะกาฬโรค ลักษณะสันนิบาตต่าง ๆ   เบญจกาฬสันนิบาต   สันนิบาตบังเกิดในกองสมุฎฐาน    สันนิบาตเกิดเพื่อปิตตะสมุฎฐาน   ลักษณะอภิญาณธาตุ    และลักษณะอสุรินธัญญาณธาตุ



ลักษณะลำบองราหูอันบังเกิดใน  12  เดือน

               เดือน  5   ให้ร้อน  ท้องขึ้น  ท้องพอง  เกิดแต่เตโชธาตุให้โทษ

               เดือน  6   ทำให้มือเท้าเย็น  ท้องขึ้น  จักษุเหลือง  จับให้สันหลังแข็ง

               เดือน  7   ทำให้บิดตัว กำมือ  ตาเหลือกขึ้นเบื้องบน

               เดือน  8   ทำให้ปากเปื่อย  ยิงฟัน

               เดือน  9   ทำให้สะท้านหนาว  หดมือ  หดเท้า

               เดือน 10   ทำให้ตัวร้อนเป็นเปลว  มักให้สะดุ้ง  ร้องปลอบไม่หยุด


               เดือน 11   จับราวนมและรักแร้  ทำให้อ้ารักแร้  แล้วเอามือลูบอก ร้องดิ้นดังจะขาดใจ  3  วันตาย

               เดือน 12   ทำให้ชัก  ตัวเป็นเหน็บ หาสติมิได้  ร้องไม่ออก

               เดือน  1    ทำพิษเจ็บทั่วทุกขุมขน  ให้ขนชูชัน   ผื่นขึ้นทั้งตัว  สะดุ้ง  ร้องไห้ไม่มีน้ำตา

               เดือน  2    จับแต่ลำคอ  ทำให้อ้าปากร้องไห้อยู่  กลืนน้ำ  ข้าว  นมไม่ได้

               เดือน  3   ให้ท้องขึ้น  ท้องพองเหลือกำหนด  หายใจไม่ลง ร้องดิ้นรนดังจะขาดใจ

               เดือน  4   ตาเหลือง  กำมือ  ขยับตัวไม่ได้  แข็งกระด้างไปทั้งตัว



               - ซางเพลิง : ปากเป็นส่าเขม่า  (เสมหะ โลหิตระคน)  กินข้าว น้ำ นม มิได้เพราะเสมหะกล้า  เสมหะตกเป็นมูกเลือด  พยาธิต่าง ๆ


               - ซางน้ำ : คอแตกเป็นน้ำเหลือง  เปื่อยไปรอบคอ  หัวร้อน  ตัวร้อน  เจ็บท้องเป็นกำลังให้ระวังซาง  ละออง  หละ จร   ถ้าเกิดกับเด็กดุจราหูมาทับลัคณ์

               - ซางแดง : เกิดจากพิษในเด็ก3 เดือน- 1 ขวบ  ทำให้ตกบุพโพโลหิต ตัวร้อน  ผอมเหลือง มูตรคูถเหลือง  จุกเสียดเป็นกำลัง

               - ซางสะกอ : ลงท้องก่อนจึงตกเป็นมูกเลือดหนอง  ตาเหลืองอุจจาระเหลือง  กินข้าว นมไม่ได้ ท้องโร   คร้านลุก  คร้านนั่ง  คร้านกิน

               - ซางช้าง : เขม่ามักขึ้นในเรือนไฟ  ถ้าขึ้นหลายชั้นขึ้นมาแต่ลำคอถึงลิ้นแล้ว  ดาษไปทั้งปาก  ไอ  อกแห้ง  ให้ลง /ราก กระหายน้ำ  กินข้าว/นม ไม่ได้

               - ซางโจร : เกิดที่ปาก  เหงือกข้างบนและล่าง  ซางนี้มีตัวดังไร  ให้เจ็บทั่วสรรพางค์กาย  ทำให้เปื่อยออกเป็นขุมทั่วตัว



ลักษณะกาฬโรค
               กาฬเสตระ  แรกขึ้นทำให้ตกใจสะดุ้งกลัว  แล้วผุดตั้งยอดสีขาว  มีน้ำใส  ฟกบวม มึนไปทั่วทั้งตัว  ไม่รู้สึกตัว  ผิวหน้าซีดไม่มีเลือด  ฝ่ามือ-เท้าซีดขาวเป็นใย  ทุรนทุราย รักษาหายยากนัก

ลักษณะสันนิบาต  7  ชนิด

               1.  สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน : เกิดขึ้นที่ชายตับ  ตับใหญ่ออกมาคับโครง  บางทีตับหย่อน ลงถึงตะคาก  จับเป็นเวลาดังไข้  เย็นทั้งตัว  ท้องขึ้น  ท้องพอง  พะอืดพะอม

               2.  สันนิบาตทุวันโทษ : เกิดแต่กองสมุฎฐาน  6  ประการประชุมพร้อมกันทำให้หาวและบิดคร้าน  มักทำให้ร้อนเป็นกำลังแล้วทำให้สะท้านหนาว กินอาหารไม่ได้  เหงื่อตก  ปากขม  วิงเวียน  ผิวหน้าแตกระแหง  พึงใจสิ่งอันเย็น  ปัสสาวะเหลือง  ตาแดง  เล็บผิวตัวเหลือง   มีกลิ่นดังสาบม้า    เป็นทุวันโทษในมหาสันนิบาต      เป็นสาทยโรคในตรีโทษนั้น

               3.  สันนิบาตเจรียงอากาศ : ผิวเนื้อ  ฝ่ามือฝ่าเท้า  เหลืองดุจทาน้ำขมิ้น   เวียนศีรษะ เจ็บแสบในจักษุ  กระหายน้ำ  มักให้เป็นดังจะหลับแล้วมิหลับเล่า  เจ็บในอก   ปัสสาวะเหลืองดุจน้ำกรักอันแก่  ดูสิ่งใดนานเห็น  กินอาหารไม่ได้  ซูบผอม   โทษทั้งนี้เพราะ  เสมหะ  1  ส่วน  วาโย  2  ส่วน  ดี  4  ส่วน  ระคนกัน
               4.  สันนิบาตเจรียงพระสมุทร์ : ผิวเนื้อขาวซีด  ชาสาก  ฝ่ามือฝ่าเท้าซีดดุจเอาดินสอพองทาหนักมือ/เท้ามาก  เจ็บทุกชิ้นเนื้อ แน่นลำคอ แน่นอก  มีลมดังในคอและเรอมิได้ขาด  มักขึ้งโกรธ มองดูสิ่งใดแดงไปหมด ครั้นเพ่งดูเห็นเป็นวงไปทั้งนั้น    โทษทั้งนี้เพราะดี  1  ส่วน  เสมหะ  2  ส่วน  วาโย  4  ส่วน  ระคนกัน

               5.  สันนิบาตบังเกิดเพื่อโลหิต : เกิดเจ็บตั้งแต่รากขวัญลงมาถึงหู  แล้วจับเอาแก้วตาทำให้ ตามืด  พิษแล่นเข้าจับดวงหทัย      บางคนสลบดุจตาย  บางคนจับมือเท้าโลดโผนโจนไป     บางคนจับแน่นิ่งเรียก ไม่ได้ยิน  อ้าปากไม่ออก  เขม่นไปทั่วตัว  ร้อนเป็นกำลัง  บางทีเวียนศีรษะจนลุกไม่ได้   

               6.  สันนิบาตบังเกิดเพื่อวาตะ : ให้จับแน่นิ่งไป  ครั้นฟื้นให้ชักมือกำเท้ากำ  สะท้านไปทั้งตัว  หน้ามืด  ตัวเย็น  มือเย็น  เท้าเย็น  ร้อนในอกเป็นกำลัง  ขัดปัสสาวะ  ขัดอุจจาระ  ผูกเป็นพรรดึก

               7.  สันนิบาตบังเกิดเพื่อเสมหะ : ให้จับเป็นเวลา  คอแห้งถึงทรวงอก  ปากแห้ง  ฟันแห้ง  ลิ้นเปื่อยแตกระแหง  สะบัดร้อนสะท้านหนาว  เมื่อยทั้งตัว  กินอาหารไม่ได้แน่นลำคอเป็นกำลัง  น้ำตาไหล


ลักษณะเบญจกาฬสันนิบาต  5  ประการ

               1.  อภิฆาตสันนิบาต : เกิดจากอำนาจผู้อื่นเบียดเบียน  เช่น  ถูกทุบถองโบยตีมีอาการปวดศีรษะดังต้องพิษอันใดอันหนึ่ง  มักลงท้องกินอาหารไม่ได้และมักโกรธ  กระหายน้ำ  เสียดไปทั้งตัวมักให้สลบ

               2.  อภิวาราภัยสันนิบาต : เกิดจากความเพียรทำงานและทรมานร่างกายตลอดเวลาหาความสุขไม่ได้   มีอาการทำให้ขลาด  พูดผิด ๆ ให้ทุกข์โศกบังเกิดความโกรธ  สะท้านร้อน/หนาว  ดุจปีศาจเข้าสิง มักให้คลั่งไคล้  กลัวคน  ไหลหลงและกระหายน้ำมาก

               3.  อภิสังคสันนิบาต : เกิดจากการ  ขัดแค้นขุ่นเคืองทำให้เจ็บช้ำน้ำใจแล้วอาเจียนเป็นโลหิต   มีอาการขบศีรษะ  เสียดแทงทั้งตัว  สลบไปดังใจจะขาด   ได้กลิ่นอันใดทำให้ร้อนทุรนทุรายยิ่งนัก

               4.  วิสมสันนิบาต : เกิดจากกินอาหารมีพิษหรือถูกต้องสิ่งมีพิษเป็นอชิณโรค คือ  พิษสำแดง หรือ  การประพฤติอิริยาบถไม่สม่ำเสมอ  คือ  แปลกถิ่นที่ดินและที่นอน  หรือ เกิดแต่เสพเบญจกามคุณ  มีอาการจิตฟุ้งซ่าน   สะอึกสะอื้น  ครั่นตัว  กินอาหารไม่ได้

               5.  อาคันตุกะสันนิบาต : เกิดในที่สุดแห่งสมุฎฐาน  29  ราตรี  ยังไม่สำเร็จ  และสมุฎฐานโรคนั้นเจือระคนมา  ได้นามว่า  สันนิบาต






ลักษณะสันนิบาตเกิดเพื่อ ดีซึม
               ให้ซึม   หาสติสมปฤดีมิได้   จักษุแดง
               ปากหนัก/หูหนัก  ขัดอุจจาระ/ปัสสาวะ 
               ให้อิ่มไม่อยากอาหาร  สะบัดร้อน /หนาว

ลักษณะสันนิบาตเกิดเพื่อ ดีพลุ่ง
               ให้คลั่งเป็นคราว ๆ  บางทีกล้า  บางทีขลาด
               แน่นอกมาก  คอแห้ง  ลำคอตีบ  กินข้าว /
               น้ำไม่ได้  อาเจียน  สวิงสวายพลุ่งขึ้น / ลง
               ในอก   ยกมือ/เท้า  ขวักไขว่ 

  ลักษณะสันนิบาตเกิดเพื่อ ดีล้น
               ให้โลดโผนโจนไป  เห็นหน้าคน / สิ่งใด
               ไม่ได้  ได้ยินเสียงอะไรก็ไม่ได้  ดังต้อง
               ลมเพลมพัด  ปีศาจเข้าสิง ไม่อยากอาหาร 
               คอแห้ง  กระหายน้ำ  น้ำลายเหนียว
               มือเท้าเย็นแต่ตัวร้อน

ลักษณะสันนิบาตเกิดเพื่อ ดีรั่ว
               ให้ลงดุจกินยารุ   มูลเหลืองดุจน้ำขมิ้นสด
               เคลิบเคลิ้มหาสติไม่ได้  หิวโหย  กินอาหาร
               ไม่อยู่ท้อง  สวิงสวาย  แน่นหน้าอกมาก   
               ท้องลั่นอยู่เสมอมิได้ขาด

               








               สมธาตุ : ยิ่งไปด้วยกองสรรพธาตุ  โทษเกิดจากปิตตะ  วาตะ  เสมหะสมุฎฐานประชุมพร้อมกันในกองวีสติปัถวี    อาการจับเป็นเวลา  ตัวร้อนเท้าเย็น สวิงสวาย  เจ็บอก  กินอาหารไม่รู้รส  บางทีให้มึน  ให้มัว

               วิสมธาตุ : ยิ่งไปด้วยกองวาโยมีกำลัง  โทษเกิดแต่กองฉกาลวาโยเป็นเหตุ   อาการท้องลั่นเป็นนิจบางวันผูก  บางวันลง  บางวันอยากอาหาร  บางวันคับท้อง แน่นอกคับใจ  เพลิงธาตุไม่เสมอกัน   วาโยเดินไม่สะดวก

               กติกธาตุ : ยิ่งไปด้วยสรรพพิษทั้งปวง  เช่น  พิษดี  พิษเสมหะ  พิษลมพิษอันพิเศษ  คือ  เพลิงธาตุนั้นแรง  เผาอาหารฉับพลันโทษเกิดแต่กองจตุกาลเตโช   มีอาการจับเชื่อมมัวทั้งกลางวันและกลางคืน มิได้เว้นเวลา  ปวดศีรษะ   ผิวเนื้อแดง  ตาแดง  ขัดอุจจาระ / ปัสสาวะ  ให้อุจจาระเป็นพรรดึก

               มันทธาตุ  : ยิ่งไปด้วยเสมหะมีกำลัง  โทษเกิดแต่  กองทวาทสอาโป    มีอาการ เพลิงธาตุหย่อนเผาอาหารไม่ย่อย  ทำให้ถ่ายวันละ  3 – 3 เวลา  สวิงสวายไม่มีแรง  ท้องขึ้นมิรู้วาย    อุจจาระเป็นเมือกมัน  เป็นเปลวหยาบ/ละเอียดระคนกัน  ปวดมวนเป็นกำลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น