โดย ยส พฤกษเวช
พระคัมภีร์อติสาระวรรค
ของ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์
พระ คัมภีร์อติสาร เป็นกลุ่มอาการโรคในระบบทางเดินอาหาร และลุกลามออกไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด หัวใจ ตลอดจนมีผลต่อระบบประสาท อาการของโรคเป็นลักษณะเรื้อรังมานาน จนยากต่อการรักษา ใกล้เคียงกับลักษณะโรคมะเร็งหรือโรคฝีภายใน อาการที่แสดงออก มักจะถ่ายเป็นโลหิต มูกเลือด อุจจาระเน่าเหม็นและมีไข้แทรก
ลักษณะอติสาร แบ่งได้ ๓ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มที่เกิดจากการกินอาหารผิดสำแดงและกินยาไม่ถูกกับโรค เรื้อรังมา แต่ยังอยู่ในระยะสันนิบาต (๒๙ วัน) เรียกว่า อชินธาตุอติสาร
๒. กลุ่มติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร สืบต่อจากอชินธาตุอติสาร เรื้อรังเรื่อยมา เรียกว่า อติสารโบราณกรรม
๓. กลุ่มอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร น่าจะเกี่ยวข้องกับระบบประสาทสั่งการ โดยมีสาเหตุต่าง ๆ ที่ต่างกัน และมีการเรียกชื่อต่าง ๆ กันออกไป เรียกว่า อติสารปัจจุบันกรรม
ต่อไปนี้จะกล่าวลักษณ อติสารวรรค ซึ่งเป็นประเภทผิดสำแดง ๔ ประการนั้น ฯ
๑. เสมหะอชิณธาตุ อติสาร ฯ
๒. ปิตตะอชิณธาตุ อติสาร ฯ
๓. วาตุอชิณธาตุ อติสาร ฯ
๔. สัณนิปาตธาตุ อติสาร ฯ
อชิณอติสาร เกิดด้วย ๒ ประการ คือ กินอาหารผิดสำแดงประการหนึ่ง เพื่อกินยาผิดกับโรค ประการหนึ่ง รวมเป็นสองประการดังจะกล่าวต่อไปนี้
เสมหะอชิณธาตุอติสาร
อันเป็นอติสารผิดสำแดง เคารพ ๑ บังเกิดเพื่อบริโภคยาแลของกินก็ดี อันมิควรแก่ธาตุโรค มักกระทำให้ลงในเวลาเช้า มีอาการคอและอกแห้ง ให้สีอุจจาระนั้นขาว มีกลิ่นคาวระคนด้วยประเมหะเป็นเปลว แล้วให้ปวดคูถทวารเป็นกำลัง ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๑๒ ราตรีไป ก็จะเข้ามุธุธาตุอติสาร จัดเป็นปถมอติสารชวน ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในเสมหะอชิณ ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ ฯ
- ท่านให้เอา ตรีกฏุก แห้วหมู ผลมะตูมอ่อน ผลตะบูน ผลเบญกานี การบูร ยางตะเคียน น้ำประสารทอง สิ่งละส่วน เขควายเผือกเผา ๒ ส่วน เจตมูลเพลิง ๔ ส่วน สะค้าน ๘ ส่วน รากช้าพลู ๑๒ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำมะแว้งแทรกพิมเสนกินหายแล
- โกฐศสอ โกฐกระดูก โกฐหัวบัว เทียนดำ จันทน์ทั้ง ๒ ว่านร่อนทอง เนระพูสี ครั่ง ฝางเสน ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน สิ่งละส่วน กานพลู ๔ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกกระท้อน แทรกพิมเสนกิน แก้เสมหะอชิณอันบังเกิดแต่สำแดงธาตุกับสำแดงโรค และแก้อติสารวรรค ๑๑ ประการด้วย ฯ
ปิตตะอชิณธาตุอติสาร
อันเป็นอติสารผิดสำแดงเป็นคำรพ ๒ บังเกิดเพื่อบริโภคยาแลของกินก็ดี อันมิควรแก่ธาตุโรค
มักกระทำให้ลงในเวลากลางวัน มีอาการให้ร้อนในอก และให้สวิงสวาย หิวโหยหาแรงมิได้ ให้ตัวร้อนให้จับดุจไข้รากสาดสันนิบาต สีอุจจาระนั้นแดง และให้ร้อนตามลำซ่วงทวาร ขึ้นไปตลอดถึงทรวงอก มีกลิ่นดังปลาเน่า ให้ปากแห้งคอแห้ง มักอาเจียน บริโภคอาหารมิรู้รส ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๗ ราตรีไป ก็จะเข้ารัตตะธาตุอติสาร จัดเป็นทุติยอสาระชวน ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในปิตตะอชิณ ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ ฯ
- ผลจันทน์ ดอกจันทน์ คำฝอย กำยาน ผลพิลังกาสา ผลสารพัดพิษ เปลือกปะโลง แก่นขนุน ไพล กระชาย สิ่งละส่วน เทียนดำ ๒ ส่วน หมากดิบ ๔ ส่วน กระเทียมกรอบ ๑๗ ส่วน ทำเป็นจุล บดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกสะเดาต้ม แทรกพิมเสนกินแก้ปิตตะอชิณอันบังเกิดแต่ผิดสำแดงนั้นหายแล ฯ
- เปลือกฝิ่นต้น เปลือกทองหลางใบมน เปลือกแคแดง เปลือกขนุน ลมุด ใบกะท่อม ผลกระวาน ผลเร่ว การบูร ผลคนทีสอ ผลผักชีทั้ง ๒ หอมแดง กระเทียม สิ่งละส่วน ว่านน้ำ ๒ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง ไว้ละลายน้ำรากยอ แทรกพิมเสนกินหายแล ฯ
- เปลือกสันพร้านางแอ เถามวกทั้ง ๒ ว่านมหาเมฆ ผลกระดอม น้ำประสานทอง ดีปลี สิ่งละส่วน เปลือกมะเดื่อชุมพร ๒ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง ไว้ละลายน้ำรากเทียนต้ม แทรกพิมเสนกินหายแล ฯ
วาตะอชิณธาตุอติสาร
อันเป็นอติสารผิดสำแดง เป็นคำรพ ๓ บังเกิดเพื่อบริโภคยาแลของกินก็ดี อันมิควรแก่ธาตุ มักกระทำให้ลงเมื่อเวลาพลบค่ำ มีอาการให้ท้องขึ้นและแน่นอกขัดใจให้คลื่นเหียน ให้อาเจียนแต่ลม เท้าเย็นมือเย็น บริโภคอาหารมิได้ คอแห้งผาก สีอุจจาระนั้นคล้ำ มีกลิ่นอันเปรี้ยวเหม็นยิ่งนัก ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๑๐ ราตรีไป ก็จะเข้าปัจฉัณธาตุอติสาร จัดเป็นตะติยะอสาระชวน ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในวาตะอชิณ ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ ฯ
- รากคันทรง รากตานหม่อน รากพุมเลียงทั้ง ๒ รากกระทุ่มขี้หมู เปลือกไม้แดง อบเชย สักขี ผลจันทน์ ตรีกฏุก สิ่งละส่วน ขมิ้นอ้อย สีเสียดทั้ง ๒ สิ่งละ ๒ ส่วน กานพลู ๔ ส่วน กระเทียมกรอบ ๖ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง ไว้ละลายน้ำกระสายยา อันควรแก่โรคให้กินแก้วาตะอชิณ อันบังเกิดแต่ผิดสำแดงนั้นหายแล ฯ
- รากโพบาย รากมะเดื่อดิน ข่าต้น กรุงเขมา ระย่อม พิษนาศน์ สิ่งละส่วน เบญกานี ตรีกฏุก สิ่งละ ๒ ส่วน ไพล ๓ ส่วน จันทน์เทศ ๔ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง ไว้ละลายน้ำเกสรบัวหลวงต้มแทรกพิมเสนกินหายแล ฯ
- ผลยาง ไส้หมากดิบ ผลกระวาน ใบกระวาน จันทน์แดง ผลผักชีทั้ง ๒ พรรผักกาด รากมะกอก สิ่งละส่วน ฝางเสน เปลือกมะขามขบ เปลือกผลทับทิมอ่อน สิ่งละส่วนสองส่วน ตรีกฏุก ๓ ส่วน ใบจันทน์หอม ๔ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง ไว้ละลายน้ำใบเทียนต้ม แทรกพิมเสนกินหายแล ฯ
สัณนิปาตอชิณธาตุอติสาร
อันเป็นอติสารผิดสำแดงเป็นคำรพ ๔ บังเกิดเพื่อบริโภคยาแลของกินก็ดี อันมิควรแก่ธาตุโรค มักกระทำให้ลงเมื่อเวลากลางคืน มีอาการให้แน่นหน้าอก แลหายใจสอื้น ให้จับสะบัดร้อนสท้านหนาว ให้ตัวร้อนและเท้าเย็น ให้ลงมิได้ สะดวก สีอุจจาระนั้น ดำ แดง ขาว เหลืองระคนกัน มีกลิ่นอันโขงเหม็นยิ่งนัก แล้วทำให้ขับปัสสาวะเดินมิสะดวก ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด ๒๙ วันไป ก็จะเข้ามุตตายะธาตุอันระคนด้วยกาฬธาตุอติสาร จัดเป็นจัตตุทะอะติสาระชวร อันเนื่องอยู่ในปัญจะมะชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในสัณนิปาตอชิณ ตามอาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ ฯ
- รากกล้วยตีบ รากยอทั้งสอง เปลือกโลด รากชิงชี่ เปล้าทั้งสอง โกฐทั้งห้า เทียนทั้งห้า จันทน์ทั้งสอง เบญจกูล สิ่งละส่วน เปลือกฝิ่นต้น ๑๙ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำเปลือกกระทุ่มขี้หมู ต้มแทรกพิมเสนกิน แก้สัณนิปาตอชิณ หายแล ฯ
- โกฐทั้งห้า เทียนทั้งห้า ผลจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู แฝกหอม มะตูมอ่อน ผลผักชี เปลือกโมกมัน แก่นสน ฝางเสน กระเทียม ลำพันแดง พริกไทย ผิวมะกรูด เปลือกโลด ผลมะแว้งทั้งสอง เบญจกูล สิ่งละส่วน ผลจันทน์เทศ ๑๖ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำเปลือกขี้อ้ายต้มแทรกพิมเสนกินหายแล ฯ
- รากตูมกาทั้งสอง ขมิ้นเครือ กะทือ ไพล เบญจกูล สิ่งละส่วน ใบกรด ๑๐ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำขมิ้นชันกินหายแล ฯ
ในที่นี้จะยกกล่าวถึง อติสารอันเป็นโบราณกรรมทั้ง ๕ ประการนั้นก่อนป็นอาธิ ฯ
คือ มุธุธาตุ อติสาร ๑ ฯ ปัจฉัณณะธาตุ อติสาร ๒ ฯ รัตตะธาตุ อติสาร ๓ ฯ มุตตายะธาตุ อติสาร ๔ ฯ กาฬธาตุ อติสาร ๕ ฯ เป็น ๕ ประการด้วยกันดังนี้ฯ
มุธุธาตุอติสาร นั้น ว่าด้วยกองเตโชธาตุ อันชื่อว่า ปริไทยะหัศคี นั้น ย่อมเผาอาหารมิได้ย่อย ให้ผะอืดพะอมจุกแดก ให้ลงไปจะนับหนมิได้ ครั้นสิ้นอาหารแล้ว ก็ลงไปเป็นน้ำล้างเนื้อเหม็นคาว แลให้กระหายน้ำ คอแห้ง อกแห้ง ปากและฟันแห้งยิ่งนัก ดังกล่าวมานี้ ถ้าจะแก้ให้เอายาต่อไปนี้แก้
ยาแก้มุธุธาตุอติสาร
- ยามุธุธาตุอติสาร มหาหิงคุ์ ๑ รากหญ้านาง ๑ แก่นสน ๑ แก่นสัก ๑ กรักขี ๑ แก่นประดู่ ๑ ดอกคำไทย ๑ ดอกงิ้ว ๑ ครั่ง ๑ สีเสียดทั้ง ๒ เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งละลายน้ำใบเสนียดต้ม กินหายแล ฯ
- รากบัวหลวง ๑ รากมะกอก ๑ โกฐหัวบัว ๑ โกฐสอ ๑ จันทน์ทั้ง ๒ เทียนดำ ๑ เกสรบัวหลวง ๑ เกสรสารภี ๑ เกสรบุนนาค ๑ กระดูกงูเหลือม ๑ เปลือกโลด ๑ ชะลูด ๑ รากสลอดน้ำ ๑ รากทองหลางหนาม ๑ ใบผัก คราด ๑ ใบกระเพรา ๑ เมล็ดมะนาว ๑ เสมอภาค ทำเป็นจุลบด ละลายน้ำรากบัวกิน แก้กระหายน้ำ ในกองมุธุธาตุดีนักแล ฯ
- เอาลูกบิด ๑ ลูกปราย ๑ ลูกเบญกานี ๑ ลูกจันทน์ ๑ กานพลู ๑ การบูร ๑ ฝิ่น ๑ ยาทั้งนี้เอา สิ่งละส่วน ไส้ขนุนละมุดปิ้งเอา ๒ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งละลายน้ำมะเดื่อต้ม กินหายดี นักแล ฯ
ปัจฉัณณะธาตุอติสาร โบราณกรรมซึ่งเป็นเคารพ ๒ อันนี้เกิดเพื่อวาโยธาตุ ออกจากตัว ทำให้ลงไปดังน้ำชานหมากและน้ำแตงโม ให้หยุดแล้วให้ลงอีก กลับมีจุกแดกเป็นกำลัง ให้แน่นในลำคอ จะกินข้าวน้ำมิได้ ให้อาเจียนลมเปล่า ถ้าจะแก้ให้เอายาต่อไปนี้แก้
ยาแก้ปัจฉัณณะธาตุอติสาร
- ฝิ่น ๑ ส่วน พิมเสน ๑ กะลำพัก ๑ การบูร ๑ ครั่ง ๑ สีเสียดไทย ๑ ลูกจันทน์ ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน จันทน์ทั้ง ๒ สีเสียดเทศ ๑ ชาดก้อน ๑ สิ่งละ ๘ ส่วน ลูกเบญกานี ๑๖ ส่วน ทำเป็นจุล เอาน้ำตรีศุขติสมุฏฐานเป็นกระสายยา บดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำกะทือหมกไฟ แทรกน้ำปูนใสรำหัดพิมเสน แก้แก้ปัจฉัณณะธาตุอติสารหายวิเศษนักแล ฯ
- ยาปิดสมุทน้อย ให้เอาเบญจทับทิม ลูกฝ้ายหีบเอาแต่เนื้อ สมอเทศอ่อน ใบฝ้ายแดง
เปลือกมะขามขบ ครั่ง สีเสียดทั้ง ๒ เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส แทรกฝิ่น กินแก้ปัจฉัณณะธาตุอติสารหายดี นักแล ฯ
- กรุงเขมา โกศสอ ลูกเบญกานี เนระพูสี จันทน์ทั้ง ๒ รากไคร้เครือ เปลือกมะขามขบ ครั่ง ลูกตะบูน บอระเพ็ด เปลือกมะเดื่อ ใบเสดา ตรีกฏุก เปลือกหามกราย เปลือกฝิ่นทั้ง ๒ ลูกสะแก ลูกทับทิมอ่อน กระเทียมกรอบ เสมอภาค เอาสุราเป็นกระสายยา บดแทรกดีงูเหลือม ปั้นแท่งไว้ละลายน้ำกระสายอันควร กินแก้ปัจฉัณณะธาตุอติสารวิเศษนักแล ฯ
- ใบกรด ใบเทียน สิ่งละส่วน ใบชา ๒ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส กินแก้ปัจฉัณณะธาตุอติสาร หายดี นักแล ฯ
รัตตะธาตุอติสาร โบราณกรรมอันเป็นเคารพ ๓ ว่าด้วยอติสารเกิดแต่กองปถวี มีอาการให้ลงประมาณมิได้ ให้อุจจาระแดงเป็นโลหิตสดแลเน่า แลเสมหะระคน บางทีในที่สุดเขียวเป็นใบไม้ แลเป็นคี่เทาเด็ก ถ้าจะแก้ให้เอายาต่อไปนี้แก้ ฯ
ยาแก้รัตตะธาตุอติสาร
- ลูกจันทน์ ลูกเบญกานี จันทน์ทั้ง ๒ สีเสียดทั้ง ๒ กำยาน ชันตะเคียน พริกไทย ขิง กำมะถัน เสมอภาค ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำครั่ง กินแก้รัตตะธาตุอติสารหายวิเศษนัก ฯ
- ผักกะเฉด กระเทียมกรอบ กรุงเขมา เปลือกมูกมัน เปลือกกะทุ่มนา เปลือกหามกราย ยางแต้ว ตานทั้ง ๕ กระทืบยอด หัวอุตพิศม์ มะตูมอ่อน โกฐสอ ดีปลี จันทน์ทั้ง ๒ เสมอภาค สังกะระนีเท่ายาทั้งหลาย ทำเป็นจุลบดปั้นแท่ง กินแก้รัตตะธาตุอติสาร โลหิตตกทวาร ถ้าจะแก้ราก ให้เอากระเทียม ๗ กลีบ เทียนดำเท่ากันเป็นกระสาย ถ้ารากเป็นโลหิต ให้เอาบอระเพ็ดตัวเมีย เป็นกระสายยา ยาขนานนี้ชื่อว่า ประทานชีวา วิเศษนักแลฯ
- โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ ลูกเร่ว กระวาน กานพลู สิ่งละส่วน ฝาง เปลือกปะโลง แกแล เปลือกหว้าขมิ้นอ้อย ลูกทับทิมอ่อน สิ่งละ ๒ ส่วน ทำเป็นจุลบดละลายน้ำใบชาต้ม กินแก้รัตตะธาตุอติสารหายแล ฯ
มุตตายะธาตุอติสาร โบราณกรรมซึ่งเป็นเคารพ ๔ คือ ว่าด้วยอติสารเกิดแต่กองอาโปธาตุ ทำให้ลงเป็นโลหิตเสมหะเน่าเหม็น ให้ท้องขึ้นปะทะอยู่หน้าอก ให้แน่น ให้อาเจียน ให้เหม็นอาหาร แลให้มืดหน้ายิ่งนัก ถ้าจะแก้ให้เอายาต่อไปนี้แก้ ฯ
ยาแก้มุตตายะธาตุอติสาร
- จันทน์หอม รากมะอึก สมอไทย ผลกระดอม บอระเพ็ด เสมอภาค ต้ม ๓ เอา ๑ กิน แก้มุตตายะธาตุดีนักแลฯ
- จันทน์ทั้ง ๒ กรุงเขมา กะพังโหม สมอไทย เสมอภาค ต้ม ๓ เอา ๑ แทรกขันทศกร กินแก้มุตตายะธาตุดีนักแลฯ
- จันทน์หอม สังข์ จันทนา ตรีผลา ผลชะพลู รากมะอึก ผลกระดอม ผลขี้กาแดง บอระเพ็ด
เสมอภาค ต้มหรือปั้นแท่งก็ได้ ละลายน้ำกระสายยาอันควรแก่โรค กินแก้มุตตายะธาตุอติสารหายแล ฯ
- กัญชา ใบสะเดา ใบทองหลางใบมน ใบคนทีสอ ใบมะตูม ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ละลายน้ำกระสายยาอันควรแก่โรค กินแก้มุตตายะธาตุอติสารวิเศษนัก ฯ
- พิมเสน หมึกหอม สิ่งละส่วน จันทน์เทศ จันทนา ลูกจันทน์ เนื้อไม้ กานพลู สิ่งละ ๒ ส่วน เทียนดำ ผลผักชี เมล็ดพันผักกาด ขิงแห้ง ลูกเบญกานี สะค้าน ดินกิน กำยาน น้ำประสานทอง สิ่งละ ๓ ส่วน แก่นปรู ๔ ส่วน ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ละลายน้ำทางตานลนไฟบิดให้กิน แก้มุตตายะธาตุอติสารวิเศษนัก ฯ
กาฬธาตุอติสาร โบราณกรรมซึ่งเป็นเคารพ ๕ นั้น ท่านจัดแบ่งออกไปอีกเป็น ๕ กาฬอติสาร ดังนี้
คือ ๑. กาฬพิพิต ๒. กาฬพิพัฒ ๓. กาฬสมุท ๔. กาฬมูต ๕. กาฬสิงคลี
๑. กาฬพิพิต ให้เกิดขึ้นที่ขั้วตับ กระทำให้ตับหย่อน มีเชื่อมซึม เหมือนตับทรุด บางทีก็มีเพ้อด้วย
๒. กาฬพิพัฒ บังเกิดขึ้นทำให้ลงเป็นน้ำเหลือง เหม็นดังซากศพ ทำให้หอบ ให้สอึก แลเชื่อมซึม
๓. กาฬสมุท บังเกิดขึ้นทำให้ลงแลกระหายน้ำยิ่งนัก ให้ตัวเย็น ให้เหงื่อตกหนัก แล้วให้ซีดไปทั้งกาย ซึมไป หารู้สมประดีไม่ ฯ
๔. กาฬมูต บังเกิดขึ้นให้กลัดกลุ้มหัวใจ ตับไตไส้พุงก็จะหลุดลุ่ยเป็นท่อน เป็นชิ้น ออกมาดุจถ่านไฟดับ มีหอบซึมแลเสมหะปะทะ ฯ
๕. กาฬสิงคลี บังเกิดขึ้นให้อุจจาระและปัสสาวะมีสีเหลือง ให้ตาเหลือง ให้ร้อนในอกแลกระส่าย กระหายน้ำยิ่งนัก ฯ
ยาแก้กาฬธาตุอติสาร
- จันทน์ทั้ง ๒ ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง สังกะระนี เนระพูสี ลูกเบญกานี ลูกจันทน์ ยาทั้งนี้
ยาแก้พิษพฤกษเวช |
- จันทน์ทั้ง ๒ เปลือกมังคุด เปลือกตะบูน แก่นสน ไม้สัก ฝางเสน ทำเป็นจุลบดด้วยน้ำปูนใน ละลายน้ำใบกรดยอกเขียว กินแก้กาฬธาตุอติสารดีนักแล ฯ
- ไส้หมากดิบ เปลือกฝิ่นต้น เปลือกฝิ่นเครือ เปลือกขี้อ้าย ชันตะเคียน ชันโพรง กระชาย กะทือ ไพล ขมิ้นชัน ลูกมะตูมอ่อน ลูกพิลังกาสา กระเทียม สิ่งละส่วน ลูกตะลุมพุก สิ่งละ ๓ ส่วน เปลือกตะเคียน การบูร สิ่งละ ๔ ส่วน ทำป็นจุลบดปั้นแท่ง ละลายน้ำปูนใสแทรกพิมเสน ดีงูเหลือม กินแก้กาฬธาตุอติสารดีนักแล ฯ
ลักษณะอติสารซึ่งเป็นปัจจุบรรนกรรม ๖ ประการ ดังนี้
๑. อุทรวาต ๒. สุรุทราวาต ๓. ปัตละยาวาต ๔. กุจฉิยาวาต ๕. โกฎฐ ๖. อุตตราวาต
๑. อุทรวาตอติสาร ปัจจุบรรนกรรม โดยอำนาจที่ผิงสะดือไม่ปกติเมื่อยังเยาว แลลมกองนี้ติดตัวมาจนใหญ่ กระทำให้ท้องขึ้นมิรู้วาย มักกลายเป็นลมกระษัย ให้ลงให้ปวดมวน ครั้นกินยาก็หาย แล้วก็กลับเป็นมา ให้ปวดท้องยิ่งนัก
ยาแก้อุทรวาตอติสาร
- สะค้าน รากช้าพลู รากเจตมูลเพลิง ตรีกฏุก ผิวมะกรูด ใบคนทีสอ มหาหิงคุ์ เสมอภาค ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำร้อน กินแก้อุทรวาตอติสารหายดีนักแล ฯ
- เปลือกมะเฟือง มูลโคค่างพ้อม พริกไทย ขิง ดีปลี กระเทียม เสมอภาค ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำร้อน กินแก้อุทรวาตอติสารหายแล ฯ
- ใบตะขบ พริกไทย ขิง กระเทียม ขมิ้นอ้อย ไพล กะทือ หอม ว่านน้ำ ดินเผา ยอดสะแก เสมอภาค ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำกะทือหมกไฟ กินแก้อุทรวาตหายแล ฯ
- ใบคนทีสอ ผิวมะกรูด เจตมูลเพลิง กะทือ ไพล ข่า กระชาย หอม กระเทียมกรอบ เท่ายาทั้งหลาย ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำกระสายยาต่าง ๆ กินแก้อุทรวาตอติสารหายแล ฯ
๒. สุรุทราวาตอติสาร ปัจจุบรรนกรรมเป็นคำรพ ๒ ซึ่งกองธาตุในท้องเกิดเป็นอชิณขึ้น ทำให้ลงยิ่งกว่ายารุ กินอาหารมิได้อยู่ท้อง ให้อาเจียนสีต่าง ๆ สมมติว่า ป่วงห้า ถ้าจะแก้ท่านให้เอา
ยาแก้สุรุทราวาตอติสาร
- หนังกระเบนเผา ผิวมะกรูด ผิวส้มโอ หนังแรดเผา ลูกประคำดีควาย ผิวไม้ไผ่ น้ำตาลกรวด เมล็ดมะม่วงกะล่อนเผา พิมเสนแทรก ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใสหายแล ฯ
- เขากระบือเผือกเผา เขาเลียงผาเผา สบ้าลิงลายเผา สบ้าลิงดำเผา ลูกประคำดีควายเผา
มูลนกพิราบคั่ว น้ำประสานทอง เสมอภาค ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้กินหายดีนักแล ฯ
ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อยพฤกษเวช |
- เปลือกขี้อ้าย หูกระแชง กะปิดีเผา กานพลู ดีงูเหลือม พิมเสน เสมอภาค ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำหวายลิงต้ม กินหายแล ฯ
- ใบทับทิม ใบเทียน เสมอภาค กล้วยน้ำสามใบ ไส้ขนุน แกแล เบญกานี พิมเสน เสมอภาค ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำกระดอม กินหายแล ฯ
- เทียนทั้ง ๕ ตรีกฏุก สิ่งละส่วน ดอกจันทน์ สองส่วน กานพลู ๓ ส่วน ลูกจันทน์ ๔ ส่วน ทำเป็นจุลปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำกานพลูต้ม กินหายแล ฯ
๓. ปัตละยาวาตอติสาร ปัจจุบรรนกรรม เป็นคำรพ ๓ บังเกิดเบื้องล่าง กล่าวคือ วาโยพัดกำเริบ ซึ่งคูถเสมหะมิให้คุ้มกันเข้าได้ อุจจาระนั้นสำแดงโทษเป็นสีขาว ดุจน้ำข้าวเช็ด มีกลิ่นดุจศพเน่าโทรม ให้ลงไหลไปมิได้ว่าง บริโภคอาหารมิได้ ให้อาเจียนแต่เขละ ให้ตัวเนื้อนั้นเต้นและเกิดสะอึก
ยาแก้ปัตละยาวาตอติสาร
- ผลผักชีทั้ง ๒ ขิงแห้ง ดีปลี สิ่งละส่วน แห้วหมู ๒ ส่วน ตำแยเครือ ๓ ส่วน มะตูมอ่อน ๔ ส่วน ต้มให้กินแก้ทำให้จำเริญ เพลิงธาตุดีนักแล ฯ
- เจตมูลเพลิง ช้าพลู สะค้าน มหาหิงคุ์ สิ่งละส่วน ขิงแห้ง ๒ ท ส่วน แห้วหมู ๓ ส่วน มะตูมอ่อน เมล็ดโมกมัน สิ่งละ ๔ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำกระสายยาอันควรแก่บริโภค กินแก้ลงไหล หายดีนักแล
- มะตูมอ่อน เมล็ดโมกมัน แห้วหมู สิ่งละส่วน เชือกเข้าลายดิบ ๒ ส่วน ตรีกฏุก พอรำหัด ต้มกินหายวิเศษดีนักแล ฯ
- ตรีกฏุก มหาหิงคุ์ ว่านน้ำ เกลือสุวิสา เกลือวิทูน เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำแห้วหมูต้ม กินแก้ร้อนและจำเริญอาหาร และบำรุงเพลิงธาตุดีนักแล
- จันทน์ทั้ง ๒ ลูกเบญกานี กำยาน สุพรรณถัน ตรีกฏุก สิ่งละส่วน สีเสียดทั้ง ๒ สิ่งละส่วน ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำครั่ง กินหายดีนักแล ฯ
๔. กุจฉิยาวาตอติสาร ปัจจุบรรนกรรม เป็นคำรพ ๔ ลมกองนี้บังเกิดอยู่นอกไส้ พัดแต่เพียงคอลงไปทวารหนักแลทวารเบา ในเมื่อจะให้โทษนั้น ประมวนกันเข้าเป็นก้อนในท้อง แต่ว่าอยู่นอกไส้ กระทำให้ลงท้องเหม็นคาว แต่มิได้ปวดบวม อยู่ ๆ ก็ลงมาเอง เหตุว่าลมกองนี้เป็นเจ้าของทวาร มิได้หยัดทวารไว้ได้ สมมติว่า ทวารเปิด ดุจจะกล่าวมาดังนี้
ยาแก้กุจฉิยาวาตอติสาร
- โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ สิ่งละส่วน กระเทียม การบูร มหาหิงคุ์ สิ่งละ ๒ ส่วน ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านร่อนทอง กะทือ กระชาย ข่าตาแดง ลูกจันทน์ กานพลู ลูกเบญกานี ฝิ่นต้น ลูกมะตูมอ่อน สิ่งละ ๔ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ ละลายน้ำมะรุมต้ม กินหายแล ฯ
- กฤษณา กะลำพัก ขอนดอก เนื้อไม้ จันทน์ทั้ง ๒ โกฐทั้ง ๕ สิ่งละส่วน ลูกจันทน์ กระวาน กานพลู ใบกะท่อม เปลือกกะทุ่มขี้หมู ฝางเสน ลูกปราย ครั่ง เปลือกมะขามขบ ใบกะพังโหม สิ่งละ ๒ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ ละลายน้ำดีปลีต้ม กินหายแล ฯ
- ว่านน้ำ แห้วหมู ลูกกระดอม ลูกโหระพา ใบจันหอม ลูกจันทน์ สมุลแว้ง อบเชย การบูร น้ำประสานทอง เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ ละลายน้ำฝาง กินหายแล ฯ
- โกฐสอ โกฐเขมา เทียนดำ เทียนขาว ลูกจันทน์ กานพลู กำยานทั้ง ๒ เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส กินหายแล ฯ
๕. โกฎจาสะยาวาตอติสาร ปัจจุบรรนกรรม เป็นคำรพ ๕ ลมจำพวกนี้เลี้ยงสัตว์ทั้งหลายในลำไส้ ถ้าพัดมิได้ตลอดเมื่อใด ย่อมให้ลงไป บริโภคสิ่งใดก็เป็นสิ่งนั้นออกมา สมมติว่าไส้ตรง ลมกองนี้พัดอุจจาระปัสสาวะ ให้ลงสุคุตตะทวาร ๆ ก็เปิด ลมกับทวารหากรู้กันเอง ถ้ามิได้รู้ ตราบใดอาการก็แปรไปต่าง ๆ ดุจจะกล่าวมาแต่หลังนั้น
ยาแก้โกฎจาสะยาวาตอติสาร
- โกฐสอ โกฐเชียง โกฐกระดูก โกฐหัวบัว โกฐพุงปลา ลูกสมอเทศ ลูกสมอไทย ขิง พริกไทย ดีปลี กะทือ ไพล ว่านร่อนทอง ว่านนางคำ การบูร ลูกจันทน์ มหาหิงคุ์ เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ ละลายน้ำแกแลต้ม กินหายแล ฯ
- ช้าพลู ขิง กล้วยน้ำ สะค้าน เจตมูลเพลิง แห้วหมู ว่านน้ำ ขมิ้นอ้อย ดีปลี ลูกสมอ น้ำประสานทอง พริกไทย กะทือ ไพล หอม กระเทียม มหาหิงคุ์ เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ละลายน้ำร้อน กินหายแล ฯ
- โกฐสอ โกฐเชียง โกฐกระดูก โกฐหัวบัว โกฐพุงปลา เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพานี เทียนดำ เทียนข้าวเปลือก ลำพันแดง ลูกมะตูมอ่อน ว่านน้ำ ผิวมะกรูด ลูกกระดอม กฤษณา เนื้อไม้ จันทน์แดง จันทน์ขาว กะลำพัก เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ละลายน้ำอ้อยแดง กินหายแล ฯ
- สมอฝ้ายอ่อน ใบฝ้ายแดง ทางตาน เปลือกไม้แดง เปลือกเพกา เปลือกมะกอก เปลือกหว้า สิ่งละส่วน เปลือกขี้อ้ายนา เปลือกฝิ่นต้น เทพธาโร สิ่งละ ๒ ส่วน ไพล ๔ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ละลายน้ำมะตูมต้ม กินหายแล ฯ
๖. อุตตราวาตอติสาร ปัจจุบรรนกรรม เป็นคำรพ ๖ เกิดแต่กองวาโย ๑๖ จำพวก เป็นลมเบื้องบนไป
ทั่วทุกแห่ง อันมีแจ้งอยู่ในคัมภีร์ชวดารแล้ว ในที่นี้จะว่าแต่สิ่งเดียว มีอาการอยู่ดีๆ ก็ให้ลงไป แพทย์วางยามิต้อง กลายไปให้ปวดมวนเป็นมูกเลือด สมมติว่า เป็นบิด
ยาแก้อุตตราวาตอติสาร
- โกฐทั้ง ๙ เทียนทั้ง ๙ สมอทั้ง ๓ มะขามป้อม จันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา กะลำพัก ขอนดอก ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ พริกไทย เบญจกูล แห้วหมู กระวาน กานพลู อบเชย สมุลแว้ง ชะลูด แก่นสน สักขี รากไคร้เครือ ลูกกระดอม ลูกผักชี ชะเอมเทศ น้ำประสานทอง เปราะหอม ลูกราชดัด ลูกสารพัดพิษ แฝกหอม หญ้าตีนนก ดอกพิกุล เกสรบุนนาค เกสรสารภี เกสรบัวหลวง เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ละลายน้ำกระสายยาอันควรแก่โรคกินหายแล ฯ
- โกฐหัวบัว โกฐเขมา โกฐสอ โกฐน้ำเต้า โกฐกระดูก โกฐจุฬาลัมพา เทียนดำ เทียนขาว เทียนเยาวพานี เทียนตาตั๊กแตน เทียนข้าวเปลือก จันทน์แดง ระย่อม จันทน์ขาว พิศนาด รากไคร้เครือ ชะลูด แก่นสน ลูกมะตูมอ่อน สะค้าน บอระเพ็ด ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ สมุลแว้ง เสมอภาค ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ละลายน้ำแทรกพิมเสนกินหายแล ฯ
- จันทน์แดง จันทน์ขาว ดอกฟักทอง ดอกบวบ เกสรบุนนาค เกสรสารภี สิ่งละส่วน เกสรบัวหลวง ๒ ส่วน ทำเป็นจุลบดปั้น แท่งไว้ละลายน้ำจันทน์แทรกพิมเสนกินหายแล ฯ
ปักวาตะอติสาร ( พิเศษ ) บังเกิดแก่กองคูถเสมหะ กล่าวคือ วาโยพัดกำเริบมิให้เสมหะคุมกันเข้าได้ อุจจาระมีสีขาวดุจดังน้ำข้าวเช็ด เหม็นดุจซากศพอันเน่าโทรม ให้ลงไหลไปมิได้ว่างเวลา ให้บริโภคอาหารไม่ได้ให้อาเจียนออกแต่เขฬะเหนียว ให้เนื้อเต้น ให้เกิดสะอึก ลักษณะดังกล่าวมานี้เป็นอสาทิยะอติสารโรค รักษายากนัก
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น