ย่อจากพระคัมภีร์ธาตุบรรจบ ว่าด้วยลักษณะโรคอุจจาระธาตุ สาเหตุของโรคอุจจาระธาตุ
อันว่าชีวกะโกมาระภัจแท้จริงอันตกแต่งพระคัมภีร์ จะละนะสังคะหะปกรณ์ อันท่านสงเคราะห์ด้วยอุจจาระธาตุทั้ง ๔ ประการ ซึ่งวิปริตระคนด้วยพิษ เป็นระหว่างแห่งมหาสันนิบาต นอกจากสันนิบาตทั้งหลายต่าง ๆ มีปฐมสันนิบาตเป็นต้น มีตะติยะสันนิบาต ภินนะสันนิบาตเป็นที่สุด แลลักษณะธาตุนั้น คือ สีอุจจาระดำ แดง ขาว เขียว ก็ดี เป็น เมือก มัน เปลว ไต มีโลหิตแลหาโลหิตมิได้ก็ดี มารยาตไปวันละ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ครั้ง เวลากลางวันกลางคืนก็ดี แต่จะได้ลงดังอติสารวัคแลลามกนั้นหามิได้
อันว่าลักษณะอุจจาระธาตุทั้ง ๔ ประการ บังเกิดเพื่อกองปฐวี คือ กำเริบ หย่อน พิการ มีพิกัดสมุฏฐานให้เป็นเหตุ คือว่า บุคคลใดไข้ก็ดีมิได้ไข้ก็ดี แลมีอุจจาระออกมา ดำ แดง ขาว เขียว มีสัณฐานดังมูลไก่ แมว เต่า แลหยาบ แลละเอียด ก็ดี คือ มีลักษณะเป็นโรคอุจจาระธาตุ
ผู้ที่จะเป็นโรคอุจจาระธาตุนั้นมีสาเหตุ ๓ ประการ ดังนี้
๑. ผู้นั้นเป็นไข้ที่มีพิษจัด ตกถึงสันนิบาต แล้วเรื้อรังมา ธาตุนั้นยังแปรปรวน อุจจาระไม่เป็นปกติ จึงกลายโรคอุจจาระธาตุ
๒. รับประทานอาหารที่แปลก หรือ รับประทานมากเกินกำลังธาตุ เป็นต้นว่า เนื้อสัตว์ดิบหรือเนื้อสัตว์ที่มีคาวมากและไขมันต่างๆ และของที่หมักดองบูดเน่า ธาตุนั้นวิปริตแปรปรวนหาเสมอเป็นปกติไม่ กระทำให้ท้องขึ้นเฟ้อ เรอเหม็นบูดเปรี้ยว จุกเสียดแทง อุจจาระก็วิปริตไปต่าง ๆ จึงกลายเป็นโรคอุจจาระธาตุ
๓. ธาตุสมุฏฐานมหาภูตรูป ๔ ประชุมในกองสมุฏฐาน โทษละ ๓ ละ ๓ ทำให้สมุฏฐานกำเริบ ธาตุหย่อน ธาตุพิการ โดยพระอาทิตย์ดำเนินในทวาทศราศี (๑๒ ราศี) เป็นกำหนด ตามในพิกัดฤดูสมุฏฐาน ๖ กระทบให้เป็นเหตุ แลให้พิกัดธาตุสมุฏฐานมหาภูตรูปนั้น
สมุฏฐานมหาภูตรูป
มหาภูตรูปเต็มหมวดหมู่ นั้นคือ
พัทธะปิตตะ อพัทธะ ปิตตะ กำเดา เป็นพิกัดกองสมุฏฐานเตโช
หทัยวาตะ สัตตกะวาตะ สุมนาวาตะ เป็นพิกัดกองสมุฏฐานวาโย
ศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถะเสมหะ เป็นพิกัดกองสมุฏฐานอาโป
หทัยวัตถุ อุทริยะ กริสะ เป็นพิกัดกองสมุฏฐานปถวี
แต่สมุฏฐานปัถวีนี้จะได้เป็นชาติ (เกิดขึ้น) จะละนะ (ดำเนินไป) ขึ้นนั้นหามิได้ ต่อเมื่อใดสมุฏฐานทั้ง ๓ สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดีเป็นชาติจะละนะขึ้นแล้ว สมุฏฐานปัถวีก็พลอยมีกำลังขึ้น และสมุฏฐานทั้งปวงก็กำเริบแรงขึ้นกว่าเก่า เหตุว่า ปัถวีเป็นที่ตั้งแห่งภูมิโรคทั้งหลาย และเป็นที่ค้ำชูอุดหนุนอุปถัมภ์แห่งโรคให้จำเริญ จึงได้ชื่อว่า มหาสันนิบาต คือ สันนิบาตกองใหญ่ เหตุว่า จตุสมุฏฐานธาตุนั้นพร้อมโดยลำดับ
อุจจาระมหาสันนิบาตระคน ให้โทษ ๑๕ ประการ
๑. ให้ปวดอุทร
๒. บริโภคอาหารมิได้
๓. อาเจียน
๔. ให้นอนมิหลับ
๕. เป็นพิษ
๖. อุจจาระปัสสาวะมิสะดวก ให้ปวดถ่วง
๗. เสียวไปทั้งกาย
๘. เมื่อยไปทุกข้อทุกลำ
๙. ให้ร้อนกระวนกระวาย
๑๐. เจรจาพร่ำพรู
๑๑. ร้อนกระหาย
๑๒. ให้กายซูบผอม
๑๓. ระคนด้วยละออง ๓ ประการ
๑๔. ให้แน่นอกคับใจ
๑๕. ให้เสียดชายโครงและท้อง
รวมโทษทั้ง ๑๕ ประการนี้เรียกว่า อุจจาระธาตุลามกระคนด้วยมหาสันนิบาต และระคนไปใน
ธาตุอภิญญาณ คือ ธาตุนั้นเป็น ชาติเอกโทษ จะละนะทุวันโทษ ภินนะตรีโทษ และอสุรินทัญญาณธาตุ คือ ธาตุนั้นสำแดงให้รู้ดุจผีสิง ตกเข้าในระหว่างอชิณธาตุ คือ ธาตุนั้นที่ไม่ย่อยไป ( อุจจาระรวมตัวกัน หรือ เกิดก้อนมะเร็ง ) อันลักษณะและอาการที่กล่าวมานี้ เรียกว่า อุจจาระธาตุลามกระคนด้วยมหาสันนิบาต โรคอย่างนี้รักษายากกว่าโรคทั้งปวง เพราะเป็นโรคเรื้อรัง ถ้าให้ยามิถอยอุจจาระนั้นคงแดงอยู่นานเรื้อรัง ก็จะแปรไปตกถึง อสาทิยะอุจจาระคันธาระธาตุ บังเกิดเป็นปะระเมหะ คือ เมือกมัน เปลว ไต ทุราวะสา นั้นคือ น้ำปัสสาวะพิการต่าง ๆ เป็นอสาทิยะลามกพิกัดอภินนะธาตุ
ย่ออุจจาระมหาสันนิบาตระคนให้โทษ ๑๕ ประการ เป็น ๖ ประการ
เป็นหมวดแห่งอชินธาตุ (โรคที่เกิดเพราะธาตุไฟผิดปกติ อาหารไม่ย่อย) ๖ ประการ ดังนี้
๑. อาการซึ่งกระทำให้วิปริตไปต่าง ๆ ระคนด้วยอังคมังคานุสารีวาตา
๒. ให้ปวดอุทร ให้เสียดชายโครงและท้องน้อย โทษแห่งปัตคาต สันฆาฏ รัตฆาฏ กระทำมิได้เป็นปกติระคนกันเป็นเถาวัลย์เกี่ยว
๓ .ให้บริโภคอาหารมิได้และอาเจียน โทษแห่งปิงคลากระทำ
๔ .ให้ร้อนกระหายน้ำ กระวนกระวายเจรจาพร่ำพรู โทษแห่งสุมนากระทำกำเริบขึ้น พัดดวงหทัยให้ระส่ำระสายมิได้เป็นปกติ
๕ .ให้นอนมิหลับจับเป็นพิษนั้น โทษแห่งอัมพฤกษ์กระทำตลอดถึงสุมนา กำเริบ หย่อน พิการ ก็ดี มิได้เป็นปกติ
๖ .อุจจาระปัสสาวะมิสะดวกและให้แคบอกคับใจ โทษแห่งกุจฉิสยาวาตาและโกฐาสยาวาตากำเริบขึ้น พัดในลำไส้ มิได้เป็นปกติ
ลักษณะอุจจาระธาตุ ซึ่งจะให้วิปริตต่าง ๆ นั้นเหตุว่า มูลนั้นเสียด้วยโกฐาสยาวาต มิได้พัดชำระปะระเมหะและเมือกมันในลำไส้ให้ตก เป็นกรันติดคราบไส้อยู่ระคนด้วยอุจจาระ ครั้นเดินสู่ลำซ่วงก็ลำลาบแตกออกเป็นโลหิต บางทีเป็นเม็ดยอดขึ้นตามขอบทวาร ให้เจ็บแสบขบ บางทีขึ้นที่ต้นไส้ต่อลำกะรีสะมัดนั้นก็มี ทำอาการดุจนิ่วและไส้ด้วนไส้ลามและสตรีดุจมีครรภ์ต่ำลงไปนั้น ถ้าแพทย์มิรู้ถึง มิได้แจ้งในอุจจาระธาตุวิธี ก็สมมติเรียกต่าง ๆ บางทีก็ว่าเถาดาน บางทีก็ว่ามุตฆาต บางทีก็ว่านิ่วเป็นปะระเมหะ บางทีก็ว่าเป็นกษัยกล่อน บางทีก็ว่าเป็นริดสีดวง บางทีก็ว่าลามกอติสาร ซึ่งว่ามาทั้งนี้จะได้ผิดจากธาตุโรคนั้นหามิได้ แต่ว่าเป็นนิสัยแห่งแพทย์ ที่ว่านี้เอาเป็นที่แน่นอนนั้นมิได้ โทษดังนี้เกิดแต่กองลามก แต่จะได้ถึงลามกอติสารนั้นหามิได้ โดยเหตุว่า ลามกเป็นมลทินในมูลธาตุโรคทั้งปวง ลักษณะและประเภทซึ่งแจ้งมาแล้วนั้น ก็ระคนกลั้วไปในธาตุอภิญญาณและอสุรินทัญญาณธาตุเป็นจัตุสมาธาตุเป็นดาน เถา ในสมุฏฐานพิกัด ตกเข้าในระหว่างอชินธาตุวิธี
แพทย์ผู้ใด จะพยาบาลในอุจจาระธาตุทั้ง ๔ นี้ พึงให้สอบสวนในคัมภีร์เวชศาสตร์ทั้งหลายให้แม่นยำ จึงจะอาจอง ประกอบศาสตราคมและว่านยา สรรพสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี ให้ต้องเวชพิกัดในประเภทโรค ธาตุโรค สมุฏฐานโรค อายุโรค กาลโรค ฤดูโรค โรคกำเนิดทั้งหลายนี้ จึงรักษาอุจจาระธาตุได้ ด้วยเป็นภูมิกว่าโรคทั้งปวง มีฉันนวุฒิกะโรคเป็นอาทิ โรคอันเสศเป็นที่สุด ถ้าวางยามิถอย มูลนั้นคงอยู่นานเข้า ก็แปรถึงอสาทิยอุจจาระคันธาตุ จะบังเกิด ปะระเมหะ ๒๐ ทุราวะสา ๑๒ เป็น อสาทิยลามกพิกัดภินธาตุ โดยแท้ ถ้าวางยาต้องด้วยโรคก็จะบรรเทาหาย จะวางยานั้นอย่าให้เสีย ยาพรหมภักตร์ทั้งสาม เป็นยาชำระปะระเมหะและเมือกมันให้สำเร็จให้สิ้นเชิง แล้วจึงวางยาชื่อว่า อัศฏาธิวรรค บุษราธิคุณ สังขสุวรรณ มหานที สรรพนัตนาธิคุณ หาอนันตคุณ โอสถมาตาธิคุณ ปัตโตฬาธิคุณ มหาปัตโตฬาธิคุณ ปัตโตฬาธิวาต มหาธาราธิคุณ ธาณจักณสังขสุวรรณแพทยา ยา ๑๒ ขนานนี้ จึงให้วางต่อไปตามลำดับโรคอันเป็นจะละนะธาตุเสียก่อน แล้วจึงแต่งยาอันชื่อว่า อินทรีย์ธาตุต่าง ๆ สำหรับใช้แก้ในกองมหาภูตรูปและสมุฏฐานรูปซึงเป็นชาติธาตุนั้น ให้บริบูรณ์โดยแท้ต่อภายหลัง
อสาทิยอุจจาระคันธาระธาตุ แลปะระเมหะ ๒๐ ประการ
อันว่า ทุราวะสา ๑๒ ประการ นั้นเป็น อสาทิยะลามกพิกัด แปรมาจาก อุจจาระธาตุลามก เป็นเหตุ ลักษณะอสาทิยะอุจจาระคันธาระธาตุ เมื่อตกอยู่ในระหว่างอุจจาระธาตุลามก แก้อุจจาระธาตุไม่สิ้นโทษจึงแปรให้อุจจาระนั้นมีกลิ่นต่าง ๆ ๔ ประการคือ
๑. กลิ่นดังปลาเน่า
๒. กลิ่นดังหญ้าเน่า
๓. กลิ่นดังข้าวบูด
๔. กลิ่นดังศพเน่าโทรม
ทั้ง ๔ ประการนี้ เกิดแต่กองอชิณะธาตุให้เป็นเหตุ คือ อามะชิณะ ๑ มละอชิณะ ๑ วิวัฑฒะอชิณะ ๑ วัฑฒะอชิณะ ๑ อันว่าอชิณะโทษทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นที่ตั้งแห่งโรคทั้งหลาย
อสาทิยะอุจจาระคันธาระธาตุ
ว่าด้วยอุจจาระที่มีกลิ่น ๔ ประการ สำแดงให้เป็นโทษ ดังนี้
๑. อุจจาระสำแดงโทษกลิ่นดังปลาเน่า ระคนด้วย อามะอชิณะ เกิดแต่กองอาโปสมุฏฐานเป็นเหตุ
มีอาการ อุจจาระปัสสาวะมิสะดวก ๑ ให้เจ็บอก ๑ ให้น้ำลายไหล ๑ รวม ๓ ประการ
๒. อุจจาระสำแดงโทษกลิ่นดังหญ้าเน่า ระคนด้วย มละอชิณะ เกิดแต่กองเตโชสมุฏฐานเป็นเหตุ
มีอาการ ปากแห้ง คอแห้ง หนักตัว วิงเวียน อุจจาระปัสสาวะมิสะดวก เสโทหยดย้อย รวม ๕ ประการ
๓. อุจจาระสำแดงโทษกลิ่นดังข้าวบูด ระคนด้วย วิวัฑฒะอชิณะ เกิดแต่กองวาโยสมุฏฐานเป็นเหตุ
มีอาการ ให้เสียดแทง ให้เจ็บคอ ให้คันจมูก ให้เมื่อยไปทั่วร่างกาย ให้ตะครั่นตะครอ รวม ๕ ประการ
๔. อุจจาระสำแดงโทษกลิ่นดังซากศพอันเน่าโทรม ระคนด้วย วัฑฒะอชิณะ เกิดแต่กองกำดาสมุฏฐาน เสมหะสมุฏฐาน ด้วยปัถวีเป็นเหตุ
มีอาการ ให้เจ็บในอก ให้เจ็บในท้อง ให้บวมมือ บวมเท้า บางทีให้บวมไปทั่วร่างกาย รวม ๓ ประการ
คันธะลามกโทษ ทั้ง ๔ ประการนี้ แปรมาจากอุจจาระธาตุลามก ตกอยู่ในระหว่างอสาทิยะอุจจาระ
คันธาระธาตุ แต่ในอสาทิยะพิกัดสมุฏฐานนั้นมีอยู่ ๓ สมุฏฐาน คือ
อสาทิยะโบราณชวร ๑
อสาทิยะมรณันติกชวร ๑
อสาทิยะอชิณะชวร ๑
อสาทิยะพิกัดสมุฏฐาน
๑. อสาทิยะโบราณชวร คือ อาศัยโดยธาตุแปรตามสมุฏฐานแห่งอายุเดินเข้าสู่ความชรา เปรียบดังผลไม้ที่บริสุทธิ์ เมื่อถึงกำหนดสุกงอมแล้ว ผลนั้นหล่นลงเอง จัดเป็น ปฐมอสาทิยะพิกัดสมุฏฐานหนึ่ง จะให้ยานั้นยากนัก
๒. อสาทิยะมรณันติกชวร คือ โรคบังเกิดเป็นโอปักกะมิกโรค ตกลงมาจากที่สูง หรือต้องทุบถองโบยตี ต้องราชอาญา อหิวาตกโรค และโรคที่เกิดเป็นพิษขึ้นต่างๆ มีพิษดีและโลหิตเสมหะเป็นต้น จัดเป็น มัชณิมะอะสาทิยะพิกัดสมุฏฐาน หนึ่ง จะให้ยานั้นยากนัก
๓. อสาทิยะอชิณชวร คือ โรคคร่ำคร่าเรื้อรัง หรือ เรียกว่าโรคธรรมดา ด้วยบังเกิดอชิณโทษอยู่เนืองๆ อชิณโทษ คือ
๓.๑ บริโภคอาหารไม่ชอบกับโรคกับธาตุ ไข้นั้นมีอาการทรุดไป เรียกว่า อชิณธาตุ เหตุด้วยกินของผิดสำแดง
๓.๒ ให้ยาไม่ถูกกับโรค ไข้นั้นมิได้ถอยและคลาย เป็นแต่ทรงอยู่แล้วทรุดไป เรียกว่า อชิณโรค จัดเป็น ปัจฉิมะอสาทิยะพิกัดสมุฏฐานหนึ่ง จะให้ยานั้นยากนัก
อชิณโทษนี้เจือไปในโรคทั้งปวง ถ้าอชิณโทษบังเกิดขึ้นในระหว่างโรคอันหนึ่งอันใดแล้วก็เรียกว่า อชิณโรค คือ โรคที่รักษาไม่หาย หรือหายโดยยาก กล่าวคือ ให้ยาและสิ่งของอันไม่ควรแก่โรค ถ้าเว้นของที่ไม่ควรได้แล้ว โรคนั้นจึงบรรเทาคคลายและหายได้โดยเร็ว แต่ในทีนี้ว่าด้วยอุจจาระธาตุลามกระคนด้วยอชิณโทษ ถ้าจะแก้ ให้ฟอกอุจจาระคันธาระธาตุโทษเสียก่อน แล้วจึงให้ยารับประทานต่อไป
ยารักษาอุจจาระธาตุ
ยาพรหมภักตร์
เอาโกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ สิ่งละส่วน ตรีผลา ตรีกฏุก เปราะหอม ผลเอ็น สิ่งละ ๒ ส่วน ผลจันทน์ กานพลู การบูร ขิง ยาดำ สิ่งละ ๔ ส่วน ยางสลัดไดประสะตามวิธี ๒๐ ส่วน ทำเป็นจุล เอาน้ำเปลือกมะรุมต้มเป็นกระสาย บดทำเป็นเม็ดไว้ให้กินชำระปะระเมหะเมือกมันตามกำลัง ขับทั้งลมคูถวาต ให้เปิดอุจจาระเสียนั้นให้เป็นปกติ แก้ปวดมวนหายวิเศษนัก
ยามหาพรหมภักตร์
เอาโกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ โกฐหัวบัว ๑ โกฐชฎามังสี ๑ เทียนดำ ๑ เทียนขาว ๑ สิ่งละ ๑ ส่วน เปราะหอม ๑ ผลเอ็น ๑ ผลผักชีทั้ง ๒ ผลโหระพาเทศ ๑ สิ่งละ ๒ ส่วน รากส้มกุ้งน้อย ๑ เปล้าน้อย ๑ สิ่งละ ๓ ส่วน หัศคุณเทศประสะ ๑ ยาดำ ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน ตรีกฏุก ๑ มหาหิงคุ์ ๑ กานพลู ๑ การบูร ๑ สิ่งละ ๕ ส่วน สมอไทย ๘ ส่วน ยางสลัดไดประสะ ๒๔ ส่วน ทำเป็นจุล เอาน้ำโสฬสเบญจกูลเป็นกระสาย บดทำเป็นเม็ดไว้กินตามกำลัง อุจจาระธาตุซึ่งวิปริต อันบังเกิดแต่กองวาโยเป็นอาทิ
ยามหิทธิมหาพรหมภักตร์
เอาโกฐกระดูก ๑ โกฐเชียง ๑ โกฐจุฬาลัมพา ๑ โกฐจุฬารส ๑ เทียนดำ สิ่งละส่วน ผลราชดัด ๑ ผลโหระพาเทศ ๑ ผลผักชีทั้งสอง สิ่งละ ๒ ส่วน เปราะหอม ๑ สมุลแว้ง ๑ จันทน์ทั้งสอง สิ่งละ ๓ ส่วน ตรีกฏุก ๑ มหาหิงคุ์ ๑ ยาดำ ๑ หัศคุณเทศประสะ ๑ รากจิงจ้อประสะ ๑ รากส้มกุ้ง ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน สมอไทย ๑ กานพลู ๑ ผลจันทน์ ๑ การบูร ๑ สิ่งละ ๓ ส่วน ยางสลัดไดประสะ ๓๒ ส่วน ทำเป็นจุณ ตามพิกัด เบญจกูลเป็นกระสายยา บดทำเป็นเม็ดไว้กินตามกำลัง ชำระอุจจาระธาตุอันบังเกิดแต่กองมหาภูตรูปนั้นให้อันตรธานหาย และชำระธาตุโรคทั้งปวงวิเศษนัก
ยา ๓ ขนานนี้ ให้ละลายน้ำผึ้งให้ โดยวิธีในมหาพิกัด หนักและหย่อนทั้งปวงนั้น อาจารย์ท่านสรรเสริญว่ามีคุณยิ่งนัก
ยาอัศฏาธิวัค
เอาดอกบุนนาค ๑ เกสรบัวหลวง ๑ เทียนดำ ๑ สิ่งละ ๒ ส่วน เบญจกูล ๑ กะทือ ๑ ไพล ๑ ข่า ๑ กระชาย ๑ หอม ๑ กระเทียม ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน ยาดำ ๕ ส่วน สมอเทศ ๑ สมอพิเภก ๑ สิ่งละ ๘ ส่วน สมอไทย ๒๔ ส่วน เปลือกต้นไข่เน่า ๑ รากเล็บมือนาง ๑ รากอ้ายเหนียว ๑ กระพังโหม ๑ สิ่งละกำมือ ชุมเห็ดไทยทั้ง ๕ กระเพราทั้ง ๕ ฝักราชพฤกษ์ ๑๐ ฝัก ขยำเอาน้ำเป็นกระสายต้มตามวิธีให้กิน แก้อุจจาระธาตุลามกอติสารวรรค แก้วาอุททวารรัดรึงมิให้เดิน แก้จุกเสียด แก้อาเจียน บริโภคอาหารมิได้ แต่ปวดท้องให้อุจจาระหยดย้อยเหม็นเน่าเหม็นโขลง ไปวันละ ๓,๔,๕,๖ เวลาและครอบมูลริดสีดวงทั้งปวง
ยาอินทรีย์ธาตุเตโช
เอาโกฐทั้ง ๕ เปราะหอม ๑ ผลเอ็น ๑ ผลผักชีทั้ง ๒ ผลช้าพลู ๑ หญ้าตีนนก ๑ กกลังกา ๑ น้ำตาลกรวด ๑ เอาสิ่งละส่วน เถาสะค้าน ๑ ดีปลี ๑ รากช้าพลู ๑ ขิงแห้ง ๑ เอาสิ่งละ ๒ ส่วน รากเจตมูลเพลิง ๔ ส่วน ทำเป็นจุลบดด้วยน้ำดอกไม้เป็นกระสาย บดทำแท่งไว้ละลายน้ำดอกมะสด แทรกพิมเสน รับประทานแก้อินทรีย์ธาตุเตโช ซึ่งกระทำให้บริโภคอาหารไม่มีรส ให้หิวโหยหาแรงมิได้ และแก้จตุกาลเตโชในอสุรินทัญญาณธาตุให้ตก
ยาอินทรีย์ธาตุวาโย
เอาผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ สิ่งละ ๑ ส่วน ตรีกฏุก ๑ รากช้าพลู ๑ รากเจตมูลเพลิง ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน เถาสะค้าน ๖ ส่วน ทำเป็นจุลบดละลายน้ำผึ้ง น้ำร้อนก็ได้ รับประทานแก้อินทรีย์ธาตุวาโย ซึ่งเป็น
วิสมาคินี , มันทาคินี , ติกขาคินีนั้นแล แก้สรรพลมทั้งปวงต่างๆ แก้ริดสีดวงแห้งผอมเหลือง แก้ลมแน่นอก ลมขึ้นกระหม่อม แก้ลมจรทั้งปวง
ยาอินทรีย์ธาตุอาโป
เอารากพุดซ้อน ๑ รากคัดเค้า ๑ รากประคำดีควาย ๑ รากส้มกุ้ง ๑ รากส้มป่อย ๑ รากชุมเห็ดทั้ง ๒ แก่นแสมทั้ง ๒ ชะเอมไทย ๑ ผลมะเกลือ ๑ กะเพรา ๑ บอระเพ็ด ๑ เทียนดำ ๑ สิ่งละส่วน ๑ ดีปลี ๑ เถาสะค้าน ๑ รากเจตมูลเพลิง ๑ ขิงแห้ง ๑ สิ่งละ ๒ ส่วน รากช้าพลู ๑๒ ส่วน ต้มตามวิธีให้รับประทาน แก้อิทรีย์ธาตุอาโป อันบังเกิดในอสุรินทัญญาณธาตุ ให้เจริญอาหารและให้ตั้งซึ่งสุคติธาตุ แก้อาเจียน ๔ ประการ ในสมุฏฐานพิกัดนั้นหาย
ยาอินทรีย์ธาตุปัถวี
เอาตรีผลา ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ เมล็ดในโคกกระออม ๑ เทพทาโร ๑ แก่นกรันเกรา ๑ ใบสะเดา ๑ ใบเสนียด ๑ ตูมกาแดง ๑ กระเทียม ๑ เอาสิ่งละส่วน เถาสะค้าน ๑ รากช้าพลู ๑ รากเจตมูลเพลิง ๑ ขิงแห้ง ๑ เอาสิ่งละ ๒ ส่วน ดีปลี ๒๐ ส่วน ทำเป็นจุณ เอาน้ำกระเทียมเป็นกระสาย บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนก็ได้ น้ำส้มซ่า กินแก้อินทรีย์ธาตุปัถวีธาตุ ซึ่งกระทำให้บริโภคอาหารไม่มีรส ให้ผอมเหลือง ให้บวมมือ บวมท้องและบวมเท้า แก้อุจจาระปัสสาวะวิปริตด้วยเตโชเป็นมันทาคินีธาตุ ให้อ่อนหิวหาแรงมิได้ และกระทำให้เจริญอาหาร เจริญอัคนีผลให้วัฒนะโดยปกติ
ยาอินทรีย์ธาตุประชุม
เอาโกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ สิ่งละ ๑ ส่วน ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ เอาสิ่งละ ๒ ส่วน อบเชย ๑ ชะเอม ๑ แก่นกรันเกรา ๑ เอาสิ่งละ ๔ ส่วน ไพล ๑ ข่า ๑ พริกไทย ๑ กกลังกา ๑ เอาสิ่งละ ๕ ส่วน ผลมะตูมอ่อน ๑ เปลือกโมกมัน ๑ รากส้มกุ้ง ๑ แห้วหมู ๑ บอระเพ็ด ๑ เอาสิ่งละ ๗ ส่วน ชุมเห็ดไทย ๑๐ ส่วน รากเจตมูลเพลิง ๔ ส่วน เถาสะค้าน ๖ ส่วน ขิงแห้ง ๑๐ ส่วน รากช้าพลู ๓๒ ส่วน ดีปลี ๒๐ ส่วน กะเพราแห้ง ๕๒ ส่วน ทำผงก็ได้ ต้มก็ได้ ให้รับประทานตามพิกัดประชุมมหาภูตรูป และสมุฏฐานรูปมิให้วิปริต แก้ธาตุโรคและธาตุกำเนิด และโรคเกิดแต่ฤดู ๓ ฤดู ๖ นั้นหาย
ยาทศเบญจกูล
เอาปูนผงส่วน ๑ สมอร่องแร่ง ๑ ข่าตาแดง ๑ พริกล่อน ๑ ไพล ๑ สิ่งละ ๕ ส่วน เบญจกูลตามพิกัด ๑๑ ตำเป็นจุณ บดละลายน้ำขิง น้ำข่า น้ำผึ้ง น้ำร้อน น้ำไพล ก็ได้ ให้กินเป็นยาเผาธาตุทั้ง ๔ อันพิกล ซึ่งทำให้ร้อนกระสับกระส่ายและแปรให้เป็นลมต่างๆ คือ ลมอัมพฤกษ์ ลมอัมพาต ลมปัตคาด ลมราทธยักษ์ นั้นเป็นต้น ทำให้มือเท้าสั่น และแก้ลมจุกเสียด ลมสลักเพ็ด ลมขัดอก ยอกอก ซึ่งกล่าวมานั้น
ยาแก้พิษพฤกษเวช |
เอาเบญจมูลเหล็ก เถาวัลย์เปรียง แห้วหมู สิ่งละกำมือ ตรีผลาสิ่งละ ๑๕ ผล พริกล่อน ข่าสิ่งละ ๔ บาท เบญจกูลตามพิกัดต้มตามวิธีให้กิน แก้ธาตุวิปริตในกองสมุฏฐานกำเริบ แก้จับเกลียวทั้งสิ้นด้วยพิษในฤดู ๓, ๖ เป็นเพื่อเส้นนั้น
ยาอภิญญาณเบญจกูล
เอาแฝกหอม เถาวัลย์เปรียงแดง แก้วหมู บอระเพ็ด แก่นขี้เหล็ก แก่นกรันเกรา ผลมะตูมอ่อน กกลังกา เปลือกโมกหลวง สิ่งละ ๔ ส่วน เบญจกูลตามพิกัดต้มตามวิธีให้กิน แก้ธาตุอภิญญาณซึ่งเป็นชาติจะละนะโทษในสมุฏฐานพิกัดและอุจจาระสันนิบาตนั้น เจริญอัคนีผลให้สุคติธาตุบังเกิดวัฒนะ และบำบัดอชินธาตุนั้นยิ่งให้ปกติ
ยาเตโชธาตุสมุฏฐาน
เอาโกฐทั้ง ๙ เทียนทั้ง ๗ ผลเอ็น กานพลู เปราะหอม ผลผักชี สิ่งละส่วน แฝกหอม พิมเสน จันทน์ทั้ง ๒ บอระเพ็ด สิ่งละ ๒ ส่วน ใบกระวาน ๔ ส่วน น้ำตาลกรวด ๗ ส่วน ตรีผลาตามพิกัด ๓๕ ทำเป็นจุณ ระคนด้วยเกลือสินเธาว์ เอาน้ำดอกไม้เป็นกระสาย บดทำแท่งไว้ละลายน้ำดอกมะลิสด กินแก้สมุฏฐานเตโชอันวิปริต กระทำให้ร้อนกระวนกระวาย นอนมิหลับ บริโภคอาหารมิได้และให้อาเจียน
ยาวาโยสมุฏฐาน
เอาผลจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู สิ่งละส่วน เทียนทั้ง ๗ บอระเพ็ด ผลกระดอม ผลมะตูมอ่อน พริกล่อน เบญจกูล สิ่งละ ๒ ส่วน เทพทาโร ข่าต้น สิ่งละ ๔ ส่วน การบูร ๕ ส่วน ตรีผลาตามพิกัด ทำป็นจุณระคนด้วยเกลือสินเธาว์ บดละลายน้ำขิง น้ำร้อน น้ำส้มซ่า ก็ได้ กินแก้สมุฏฐานวาโย อันพิกลต่างๆ คือ ให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้จุกเสียดแน่นอก ให้เมื่อยขบทั้งตัว ให้อาเจียน บริโภคอาหารมิได้นอนหลับ
ยาอาโปสมุฏฐาน
เอาเปราะหอมผลเอ็น กานพลู แก่นแสมทะเล รากส้มกุ้ง ชะเอมเทศ อบเชย สมุลแว้ง สิ่งละส่วน โกฐกระดูก เทียนดำ เทียนขาว การบูร แฝกหอม ใบกระวาน บอระเพ็ด สิ่งละ ๓ ส่วน พริกไทย เบญจกูล สิ่งละ ๕ ส่วน ตรีผลาตามพิกัด ๒๓ ทำเป็นจุลระคนด้วยเกลือสินเธาว์ บดละลายน้ำขิง น้ำดีปลีต้มก็ได้ กินแก้สมุฏฐานอาโปซึงวิบัติ กระทำให้ตัวชุ่มไปด้วยเสมหะเป็นอันมาก และให้เสมหะปะทะเนื่องๆ ให้อุจจาระไปวันละ ๓ , ๔ , ๕ , ๖ เวลา หยดย้อยมิได้เป็นปกติ บริโภคอาหารไม่มีรส ให้ผอมซีด ให้บังเกิดละออง ๓ ประการ ให้คลื่น ให้เหียน ให้อาเจียนและให้ปลายมือปลายเท้าเย็นซีด
ยามหาพฤกษเวช |
ยาปัถวีสมุฏฐาน
เอาแก่นกรันเกรา เปลือกกรันเรา เทพธาโร ผลมะตูมอ่อน ขมิ้นอ้อย สิ่งละส่วน สะเดาทั้งใบทั้งดอก การบูร บอระเพ็ด สิ่งละ ๓ ส่วน กระเทียม ไพล เบญจกูล สิ่งละ ๕ ส่วน ตรีผลาตามพิกัด ๒๐ ทำเป็นจุณระคนด้วยเกลือสินเธาว์ บดละลายน้ำร้อน น้ำส้มซ่า น้ำกระเทียมก็ได้ กินแก้สมุฏฐานปัถวี ซึ่งชาติจะละนะ อันบังเกิดแต่สมุฏฐานทั้ง ๓ กระทำให้บริโภคอาหารมิได้ ให้ผอมเหลือง ให้บวมเท้าเป็นโสภะ โรควิปริตธาตุ ให้อุจจาระเป็นลามก สันนิบาตวิปริตต่างๆ ให้หิวโหยหาแรงมิได้ แก้ให้สุคติเจริญขึ้น แก้ปวดท้องจุดเสียด
ยามหาโสภะโรค
เอาใบผักเสี้ยนผี ๒ ส่วน ใบขี้เหล็ก ๓ ส่วน ใบประคำไก่ ไพล กระชาย ข่า กระเทียม กระดองเต่าเผา ปูนขาว สิ่งละ ๔ ส่วน ว่านนางคำ ๘ ส่วน สุพรรณถันแดง ๑ บาท ตรีกฏุกตามพิกัด ๑๔ ทำเป็นจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำกระสายต่างๆ ทาแก้บวม ๕ ประการ และบวมทั้งกาย บวมเพื่อบุพโพ โลหิต กำดาในกองสมุฏฐาน
ยาเทพประสิทธิ์
เอาเบญจกูล ตรีผลา โกฐทั้ง ๙ เทียนทั้ง ๗ ผลจันทน์ ดอกจันทน์ สิ่งละส่วน ผิวมะกรูด ผิวมะนาว ผิวส้มซ่า ผิวมะงั่ว สิ่งละส่วน กฤษณา กระลำพัก ชะลูด ขอนดอก จันทน์แดง ดอกพิกุล เกสรบุนาค เกสรสารภี อบเชย สิ่งละ ๕ ส่วน การบูร กระแจะตะนาว ชะมดเชียง สิ่งละ ๕ ส่วน จันทน์เทศ พิมเสนเกล็ด สิ่งละ ๗ ส่วน ดอกมะลิ ๓๒ ส่วน ทำเป็นจุณ น้ำดอกไม้เทศเป็นกระสายยา บดทำแท่งไว้ละลายน้ำกระสายอันควรกับโรค แก้วาโยในกองสมุฏฐาน ชาติ จะละนะ ภินนะธาตุ อันระคนด้วยพิษในปัจฉิมที่สุด ซึ่งตกเข้าระหว่างมหาสันนิบาต
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น